5 ก.ค.66 -  ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เผย นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาโหวตนายกรัฐมนตรี 13 ก.ค.นี้  ชี้ รัฐสภาต้องประชุมจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 มาบริหารประเทศ เชื่อ หากทุกอย่างดำเนินการด้วยความเหมาะสม เกิดประโยชน์กับประชาชน สิ่งนั้นจะบรรลุเป้าหมาย

image

        นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า วันนี้ (5 ก.ค.) ได้เข้าร่วมประชุมกับนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการในพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และกรอบการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยกำหนดว่าหากมีพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ แล้วจะประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดแรก ในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2566 นี้ โดยมีวาระการพิจารณาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ยังไม่กล่าวปฏิญาณตน ได้เข้าปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ให้ครบถ้วน และปรึกษาหารือสมาชิกถึงวันในการประชุมสภาฯ ว่าจะกำหนดเป็นวันใด และจะประชุมจำนวนกี่วันต่อสัปดาห์ ส่วนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เรียบร้อยแล้ว กำหนดเป็นวันที่ 13 กรกฎาคม นี้ เวลา 09.30 น.

        ต่อข้อถามการเลือกนายกรัฐมนตรี ในส่วนของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หากมีแนวโน้มโหวตไม่ผ่าน จะต้องโหวตกี่ครั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ไม่สามารถคาดการณ์จำนวนครั้งได้ เพราะครั้งเดียวอาจโหวตผ่านก็เป็นได้ คือ ต้องได้เสียงรัฐสภา 376 เสียง ทั้งนี้ ที่ประชุมสามารถเสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมกันหลายรายชื่อในคราวเดียวกันได้ แต่หากเสนอเพียงรายชื่อเดียวและได้ไม่ครบ 376 เสียง ถือว่าการประชุมวันนั้นต้องจบลงและนัดวันประชุมครั้งต่อไปจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรี ซึ่งองค์ประชุมเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องคำนึงถึงความพร้อมของสมาชิกรัฐสภาในการร่วมเป็นองค์ประชุมด้วย ทั้งนี้เบื้องต้นตนเห็นว่า ส.ส.มีหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมาย พิจารณางบประมาณ และเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมาในวาระการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ทั้ง 8 พรรคที่ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีทิศทางเดียวกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ คือ จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมากที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม อย่างไรก็ตาม 312 เสียง ไม่ใช่เสียงข้างมาก เพราะต้องได้ 376 เสียงเป็นอย่างน้อย และการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่มีสมาชิกวุฒิสภาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงต้องเป็นมติจากที่ประชุม

       ทั้งนี้ หากผู้ถูกเสนอรายชื่อได้คะแนนเสียงไม่ถึง 376 เสียง ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าการเสนอใหม่จะต้องเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ หรือจะต้องเสนอโหวตได้กี่ครั้ง เพียงแต่ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามรายชื่อที่เสนอไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่หากรายชื่อที่เสนอไม่ผ่าน ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภากำหนดให้เสนอคนนอกได้ โดยต้องมีเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งตนไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ รัฐสภาต้องประชุมให้ได้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 มาบริหารประเทศ จะขาดนายกรัฐมนตรีไม่ได้ พร้อมเชื่อมั่นว่า หากทุกอย่างดำเนินการด้วยความเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสิ่งนั้นจะบรรลุเป้าหมาย

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ