14 เม.ย. 67 – กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สผ. เผย ไทยมีความตกลงการค้าเสรี FTA คิดเป็นร้อยละ 60 ของการค้ากับทั่วโลก แนะภาครัฐ หนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามความตกลง FTA มากขึ้น พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบและผลประโยชน์การเจรจากับต่างประเทศอย่างรอบด้าน คำนึงถึงความคุ้มค่าที่ไทยได้รับเป็นสำคัญ

image

                การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธาน กมธ.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาติดตามความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) โดยมีผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความตกลงการค้าเสรี จำนวน 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ และอยู่ระหว่างการเจรจา 12 ฉบับ รวมทั้ง มีแผนเจรจาภายในปี 2567 อีก 2 ฉบับ ประกอบด้วย ความตกลงการค้าเสรีไทย – เกาหลีใต้ และความตกลงการค้าเสรีไทย – ภูฏาน โดยประเทศไทยทำการค้ากับประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี คิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของการค้ากับทั่วโลก และตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2570 ต้องเพิ่มเป็นร้อยละ 80 ให้ได้ โดยรัฐบาลกับกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายสำคัญในการรักษาตลาดการค้าเดิมและแสวงหาตลาดการค้าใหม่ที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และมีการว่าจ้างเอกชนให้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำความตกลงการค้าเสรีกับต่างประเทศเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาถึงผลประโยชน์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และแนวทางการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย หลังจากนั้น เมื่อมีการหารือกับประเทศที่มีความสนใจในการทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทยแล้ว ถ้าประเทศดังกล่าวมีความพร้อมสามารถทำความตกลงได้ทันที แต่หากยังไม่มีความพร้อมให้ตกลงความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจกันไปก่อน เพื่อปูทางสู่ FTA ในอนาคต ส่วนการเลือกประเทศนั้น ภาครัฐพิจารณาถึงความคุ้มค่าที่ประเทศไทยได้รับเป็นสำคัญ โดยปัจจัยสำคัญ คือความพร้อมของประเทศที่ไทยจะไปเจรจาด้วย อย่างเช่น ประเทศรัสเซีย กับประเทศคาซัคสถาน ยังไม่มีความพร้อมทำความตกลงการค้าเสรีกับไทย จึงต้องทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจกันไปก่อน

            ภายหลังการพิจารณา กมธ.ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ว่า ภาครัฐควรให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามความตกลงการค้าเสรีให้มากขึ้น และภาครัฐควรจัดลำดับความสำคัญของการเจรจา FTA โดยควรวิเคราะห์ข้อมูล ผลกระทบ ผลประโยชน์อย่างรอบด้านก่อนมีการเจรจากับต่างประเทศ รวมทั้งภาครัฐควรตรวจสอบประเมินผลและทบทวนความตกลงการค้าเสรีที่ใช้บังคับไปแล้วว่ามีปัญหาข้อดี/ข้อเสีย อย่างไร เพื่อนำมาเป็นข้อสังเกตในการทำความตกลงการค้าเสรีครั้งต่อ ๆ ไป

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สผ.ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ