6 พ.ค. 67 - สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดให้เพิ่มความรับผิดทางแพ่งกับผู้ประกอบกิจการโรงงาน โดยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างหรือบุคคลใดได้กระทำไปในการทำงาน และให้โรงงานรับผิดชอบต่อความเสียหาย

image

     สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งประชาชนสามารถร่วมแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้จนถึง 10 พ.ค. นี้

     สำหรับข้อมูลประกอบการพิจารณา เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาก่อนร่วมแสดงความเห็น คือตามที่พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้กำหนดประเภทของโรงงานไว้ 3 ประเภท ได้แก่ โรงงานจำพวกที่ 1 คือ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ทันทีตามความประสงค์ของผู้ประกอบกิจการโรงงาน โรงงานจำพวกที่ 2 คือ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่เมื่อจะประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน โรงงานจำพวกที่ 3 คือ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่การตั้งโรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติโรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ มีประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อโรงงานทั้งสามประเภท

      ส่วนประเด็นสอบถามความเห็นประชาชนประกอบด้วย 5 ประเด็น สำคัญ คือ

          1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรในการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้การประกอบกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ทรัพย์สิน ประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งอาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นโรงงานจำพวกที่ 3

          2 ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรในการกำหนดให้มีมาตรฐานโรงงานหรือมาตรฐานสากลเพื่อให้โรงงานมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรมให้มีภารกิจและหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเข้าตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะภายใต้การกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้ง กำหนดให้โรงงานบางชนิดหรือประเภทต้องทำประกันภัยเพื่อเป็นการคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน

          3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรในการกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้ผู้บริหารเขตประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัตินี้โดยมีหน้าที่ความรับผิดและสิทธิใด ๆ เสมือนเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงาน และให้อำนาจปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานหยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวและปรับปรุงแก้ไขโรงงานจำพวกที่ 3 รวมถึงสั่งปิดโรงงานและให้มีผลเป็นการเพิกถอนใบรับแจ้งสำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 หรือมีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสำหรับโรงงานจำพวกที่ 3 หากปรากฏว่าโรงงานจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือการประกอบกิจการของโรงงานจะก่อให้เกิดอันตรายความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในหรือใกล้เคียงกับโรงงาน

          4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรในการกำหนดให้เพิ่มความรับผิดทางแพ่งกับผู้ประกอบกิจการโรงงาน โดยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างหรือบุคคลใดได้กระทำไปในการทำงานและให้โรงงานรับผิดชอบต่อความเสียหาย รวมถึงกำหนดให้มีบทบัญญัติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในเชิงลงโทษโดยจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 10 เท่าของค่าสินไหมทดแทน กับโรงงานที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือประกาศของรัฐมนตรี กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินประชาชนหรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

          และ 5. ปัจจุบันการประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติโรงงาน ฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร

 

 

 

เรณู เขมาปัญญา ข่าว เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ