2 พ.ค.67- อนุ กมธ.นิรโทษกรรมฯ สผ.ยึดเกณฑ์แรงจูงใจทางการเมืองที่ชัดเจนและไม่ชัดเจน จำแนกคดีนิรโทษกรรมใน 4 ช่วงเวลา พร้อมเสนอ 3 ทางออกนิรโทษกรรมคดีการเมือง

image

         รองศาสตราจารย์ ยุทธพร อิสรชัย ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรอบแนวทางจำแนกการกระทำทางการเมือง ว่า ทาง อนุ กมธ.ได้นำสถิติเหตุการณ์ทางการเมืองในห้วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบัน มาประกอบการพิจารณาแนวทางการตรากฎหมาย ซึ่งในช่วงระยะเวลา 20 ปี ได้แบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลา คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างปี 2548 - 2551 ช่วงที่ 2 ปี 2552 - 2555 ช่วงที่ 3 ปี 2556 - 2562 และ ช่วงที่ 4 ปี 2563 - 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นปช. กลุ่ม กปปส. และการชุมนุมกลุ่มเยาวชน แต่ในขณะเดียวกันนอกจากการชุมนุมใหญ่ ดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องของกระบวนการในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์เช่นเดียวกัน ซึ่งมีเหตุแห่งการที่จะเข้าข้อกฎหมายต่างๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งกระบวนการในส่วนนี้จะนำมาจำแนกโดยใช้เกณฑ์ในเรื่องแรงจูงใจทางการเมือง แบ่งออกเป็น 1.แรงจูงใจทางการเมืองที่ชัดเจน คือ ความชัดเจนในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับฐานความผิด อันเนื่องมาจากการชุมนุมโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเรื่องของการชุมนุมสาธารณะ หรือ ในบางช่วงอาจมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการทำประชามติ อาทิ การลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งตรงนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นมีกระบวนการจำแนกอะไรคือการแรงจูงใจที่ชัดเจน และ 2.แรงจูงใจทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน โดยเป็นในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำต่างๆ เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสะอาด เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายโดยตรงที่เกี่ยวกับการชุมนุม แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม

           รองศาสตราจารย์ ยุทธพร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อจำแนกการกระทำออกไป 2 ส่วนแล้ว อนุ กมธ.จะนำเสนอต่อที่ประชุม กมธ. และพร้อมปรับแก้ตามความเห็นของ กมธ. เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปใน 3 เลือก คือ ทางเลือกที่ 1 คือ ใช้กฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งยังมีความจำเป็น เพราะในกระบวนการของนิรโทษกรรม การนำกฎหมายไปปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องผ่านทางกฎหมายในการให้อำนาจกับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับคดี ส่วนทางเลือกที่ 2 คือ ในความผิดบางฐานอาจจะไม่ได้มีข้อสรุปหรือข้อยุติในสังคม ในทางเลือกนี้อาจมีลักษณะการใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายดำเนินการ และทางเลือกที่ 3 คือ ในบางฐานความผิดซึ่งได้ดำเนินคดีไปแล้ว แต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ อาจทำให้ท้ายที่สุดต้องใช้กฎหมายอื่น อาทิ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงาน อัยการ ในมาตรา 21 เพื่อให้อัยการพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง อย่างเช่นในคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจราจร กฎหมายการรักษาความสะอาด และในคดีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องขยายเสียง ซึ่งเป็นคดีที่ไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองชัดเจน และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ ทั้งนี้ คาดว่า กมธ.จะได้ข้อสรุปไม่เกินเดือนกรกฎาคม นี้ จากนั้นนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ซึ่งสภาฯ มีเอกสิทธิ์ที่จะรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ทั้งหมด หรือจะไม่ฟังก็ได้ หรือหยิบจับไปใช้บางส่วนได้ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบกับการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะมีการเสนอจากหลายฝ่ายต่อไป

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ