7 พ.ค.67 - สส.สฤษฏ์พงษ์ พรรคภูมิใจไทย รับหนังสือจาก สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่น ขอช่วยผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งออกกฎหมาย กฎระเบียบ รองรับธุรกิจนกแอ่นกินรังสู่ตลาดโลก

image

           นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย รับหนังสือจากนายชาญวิทย์ ทิพย์มณี ประธานสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่น (ประเทศไทย) เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันแนวทางในการประกอบกิจการบ้านนกแอ่นกินรัง
          โดย นายชาญวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการประกอบธุรกิจรังนกแอ่นของประเทศไทย ยังไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก เนื่องจากไม่มีกฎระเบียบหรือกฎหมายต่างๆ มารองรับ ทำให้สูญเสียโอกาสในการส่งออก รวมทั้งส่งผลเสียต่อระบบธุรกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้นสมาคม จึงขอให้ช่วยเร่งรัดและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ทั้งในเรื่องการออกประกาศกฎกระทรวง ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 การเร่งรัดทบทวนดำเนินการ และการพิจารณาแนวทางในการดำเนินการประกอบกิจการบ้านนกแอ่นกินรัง เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันการจัดทำร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เก็บทำอันตราย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งรังได้ พ.ศ. .... ตามมาตรา 14 วรรคสอง/ ร่างระเบียบกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตให้เก็บทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าคุ้มครองที่มิใช่สัตว์น้ำ พ.ศ. .... ตามมาตรา 14 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ และออกระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการประกอบการบ้านนกแอ่นกินรัง ทั้งนี้เพื่อผลักดันธุรกิจรังนกของประเทศไทย สามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ เนื่องจากการประกอบกิจการบ้านนกแอ่นกินรัง หรือคอนโดนกแอ่นกินรังนั้นเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยผลผลิตและมูลค่าตลาดส่งออกกรังนกอยู่ที่อันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศมาเลเซีย แต่กลับไม่มีมาตรการทางกฎหมาย แนวทางหรือหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาเพื่อบังคับใช้ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนมายาวนาน และส่งผลให้ไทยเสียโอกาสในทางเศรษฐกิจ
           ด้าน นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า นกอีแอ่นกินรังเป็นนกพิเศษที่ทำรังด้วยน้ำลายไม่เกาะตามสายไฟ มี พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 รองรับการรับสัมปทานในประเทศ ส่วนนกนางแอ่น ทำรังด้วยขยะเกาะตามสายไฟ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจรังนกอีแอ่น รัฐยังปล่อยให้การยื่นสัมปทานเป็นสุญญากาศ โดยอ้างว่านกมีจำนวนน้อยไม่คุ้มกับการประมูล ซึ่งต้องตรวจสอบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องจริง หรือไม่ เพราะการนำเข้าและส่งออกรังนก สร้างเงินหมุนเวียนในประเทศเป็นหมื่นล้านบาท ภาครัฐจึงควรให้การส่งเสริมในเรื่องการนำเข้าและส่งออกด้วย ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยในการสนับสนุนกิจการนกอีแอ่นกินรัง ซึ่งแนวทางส่งเสริมเรื่องดังกล่าวนั้น เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เช่น กระทรวงมหาดไทย ด้านสัมปทาน กระทรวงสาธารณสุข ด้านอนามัยซึ่งเกี่ยวข้องกับมูลและเสียงของนก และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากนกอีแอ่นเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมาย เป็นต้น ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องจัดระเบียบด้วยการเร่งตรากฎหมาย หรือออกกฎกระทรวง และวางมาตราการต่างๆ ในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง เพื่อส่งเสริมธุรกิจรังนกอีแอ่นกินรังใน 2 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการในเขตสัมปทานที่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ประกอบการกลุ่มที่เลี้ยงรังนกอีแอ่นที่อยู่ตามบ้านพักอาศัย เพื่อให้สามารถส่งออกได้อย่างถูกต้อง สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการและประเทศ




อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ