7 พ.ค.67 - กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบฯ สผ. จัดสัมมนาการบริหารงบฯ รพ.สต. ในมือท้องถิ่น ความท้าทายในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ หวังให้การบริหารงบฯ มีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ดีขึ้น

image

          นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา เรื่อง “การบริหารงบประมาณ รพ.สต. ในมือท้องถิ่น ความท้าทายในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ” ซึ่ง กมธ.จัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับภาพรวมกระบวนการจัดทำงบประมาณของประเทศไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การบริหารงบประมาณของ อปท.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้การศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนผู้สนใจ กว่า 100 คน เข้าร่วมสัมมนา ณ ห้องจัดประชุมสัมมนา B1-2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา
         โดย นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของ กมธ. คือ การปฏิรูปกระบวนการงบประมาณ ซึ่งงบในท้องถิ่นเป็นหนึ่งเสาหลัก ที่ กมธ.จะปฏิรูป และมองว่าท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาระดับประเทศหรือพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ เนื่องจากท้องถิ่นมีขนาดเล็กพอที่จะลองผิดลองถูกได้ ในขณะเดียวกันท้องถิ่นก็มีขนาดใหญ่พอในแง่ของจำนวนที่จะสร้างผลกระทบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระดับประเทศได้ รวมทั้งมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากกว่า จึงสามารถจัดทำและบริหารงบประมาณ เพื่อบริการสาธารณะ จัดทำระบบสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดีกว่ารัฐบาลส่วนกลาง นอกจากนี้ ทาง กมธ.ยังได้ศึกษาแนวทางปลดล็อกกฎระเบียบงบประมาณท้องถิ่น เพื่อที่จะเปิดโอกาสการลงทุนจากภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดในพื้นที่ตนเอง อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ        

             นอกจากนี้ภายในงานยังมีการสัมมนาในหัวข้อ "สถานการณ์การถ่ายโอน รพ.สต. - คน งบ ตัวชี้วัดบทเรียนความสำเร็จและความท้าทาย ทำไมต้องกระจายอำนาจ" โดยนางสาวกัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขไปยังท้องถิ่น ว่า เพื่อเป็นสร้างการมีส่วนร่วมจัดการสุขภาพ สร้างความรับผิดชอบของผู้นำท้องถิ่นต่อประชาช และเพิ่มความยืดหยุ่น เพิ่มความคล่องตัว ในการแก้ปัญหาสุขภาพ รวมถึงประชาชนเรียนรู้ที่จะพัฒนาสุขภาพของตนเองได้ พร้อมระบุว่า ขณะนี้การถ่ายโอน รพ.สต. ล้มเหลวส่งผลกระทบต่อประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยที่ประชาชนต้องเดินทางไกลไปถึงโรงพยาบาล ขาดระบบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และเสียความเชื่อมั่นการกระจายอำนาจท้องถิ่น เนื่องจากขาดเจตจำนงและ Roadmap ที่ชัดเจน ขาดการจูงใจ ขาดการผลักดันการเติบโตกำลังคน งบประมาณ และระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ