10 พ.ค. 67 - สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก พ.ศ. .... หวังยกระดับพื้นที่ 4 จังหวัด เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

image

           สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก พ.ศ. .... โดยเป็นร่างกฎหมายการเงิน ซึ่งนายจีรเดช ศรีวิราช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ มีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนหรือกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก ประกอบด้วย พะเยา เชียงราย น่าน และแพร่ ซึ่งมีขีดความสามารถด้านทรัพยากรและศักยภาพของพื้นที่ ให้เป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมโยงการค้า การนำเข้า การส่งออก เป็นเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ยังจัดให้มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรค ส่งเสริมการประกอบกิจการ กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ

         ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก พ.ศ. .... ยังกำหนดเขตส่งเสริมพิเศษ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ได้แก่ โครงการด้านการพัฒนากิจการหรืออุตสาหกรรมที่คณะกรรมการนโยบายจะประกาศกำหนด ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง สมาคมผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ให้ความเห็นชอบแผนเพื่อการพัฒนา แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การประกาศเขตพื้นที่ส่งเสริมพิเศษ และอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ส่วนหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจและปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บริหารกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออก และกำหนดให้สำนักงบประมาณมีหน้าที่จัดสรรเงินงบประมาณ เงินอุดหนุนทั่วไป หรืองบประมาณอื่นใดให้แก่สำนักงานได้โดยตรง

         อย่างไรก็ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางดังกล่าว เพราะการส่งเสริมด้านการบริหารด้านเศรษฐกิจ การลงทุน ระบบอนุมัติ อนุญาต ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์เป็นการบริหารที่มีลักษณะรวมศูนย์ ขาดการส่งเสริมการกระจายโอกาสในเชิงพื้นที่ อีกทั้งการจัดทำระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของหน่วยงานต่าง ๆ ยังขาดความต่อเนื่อง ขาดความเชื่อมโยง ไม่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเชิงพื้นที่หรือกลุ่มจังหวัดได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายเป็นการเฉพาะขึ้น โดยสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้จนถึงวันที่ 7 มิ.ย. 67 ทางเว็บไซต์รัฐสภา www.parliament.go.th หมวดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ