นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนางสาวขัตติยา สวัสดิผล โฆษก กมธ.รับหนังสือจาก นางสาวสินีนุช กริ่มวงษ์รัตน์ ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งแฟรนไซส์ A ภายใต้บริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประกอบธุรกิจขนส่ง โดยได้รับความเดือดร้อนจากกฎการดำเนินงานที่ไม่เป็นธรรมการเปลี่ยนแปลงเรทการจ่ายเงินฝั่งนำจ่ายและฝั่งรับพัสดุ ซึ่งเป็นรายได้หลักของแฟรนไซส์ A โดยบริษัทแม่สามารถปรับเปลี่ยนเรทในระบบได้ตามต้องการถึงแม้จะไม่ได้รับความยินยอมจากแฟรนไชส์ A รวมถึงในบางเดือนได้มีการปรับเปลี่ยนแบบกะทันหันโดยไม่มีหนังสือแจ้งล่วงหน้า มีเพียงการพูดปากเปล่าเท่านั้น การกระทำดังกล่าวส่งผลให้แฟรนไชส์ A เกิดการขาดทุนสะสมมาเป็นระยะเวลานาน โดยบริษัทแม่ มักจะแจ้งแฟรนไชส์ A ว่าจำป็นต้องลดค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องลดเรททั้งฝั่งนำจ่ายและฝั่งรับพัสดุ ซึ่งเป็นรายได้หลัก แต่ในขณะที่แฟรนไชส์ A ซึ่งแบกรับภาระพนักงานทั้งหมดแทนบริษัทแม่ รวมถึงค่าเช่าโกดัง สำนักงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้แฟรนไชส์ A ไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอันสั้นและจำต้องแบกรับค่าใช้จ่าย เกิดปัญหาในการบริหารสภาพคล่องหลายครั้ง ในขณะที่ได้รับรายได้จากบริษัทแม่มาน้อยลงกว่าเดิม รวมถึงต้องแบกผลขาดทุนจากกรณีในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากค่าตอบแทนที่ได้รับไม่ครอบคลุม รวมถึงไม่มีเหลือเผื่อเหตุการณ์หรือความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับแฟรนไชส์เลย อาทิ บริษัทแม่ได้มีการออกกฏการทำงานให้กับพนักงาน (SOP) โดยหากมีการทำผิดกระบวนการจะเกิดค่าปรับขึ้น โดยค่าปรับนี้จะต้องทำงานควบคู่กับระบบภายใน ซึ่งปัจจุบันระบบยังไม่มีความเสถียร ทำให้เกิดค่าปรับที่ไม่ถูกต้องและไม่สามารถโต้แย้งได้ และการปรับเปลี่ยนกฎการทำงานแบบกะทันหัน โดยไม่เคยสอบถามหรือรับฟังความคิดจากแฟรนไซส์ A ซึ่งเป็นผู้ควบคุมหน้างานโดยตรง ทำให้ต้องจัดหาพนักงานมารองรับการทำงาน ก่อให้เกิดต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องแบกรับความเสี่ยงแทนบริษัทแม่ โดยไม่ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม ตลอดจนปัญหาการปฏิบัติต่อแรงงานที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากบริษัทแม่มีนโยบายให้แฟรนไซส์ A ควบคุมและลดค่าใช้จ่ายอยู่เสมอ ซึ่งค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจขนส่ง คือ ค่าแรงของพนักงาน โดยในบางครั้งทางบริษัทแม่ได้มุ่งเน้นให้แฟรนไชส์ A ปรับลดค่าแรงพนักงานและตัดสวัสดิการต่างๆ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการต่างๆ ที่โดนเอารัดเอาเปรียบจากการทำธุรกิจกับคู่สัญญา รวมถึงลูกจ้างอีกหลายชีวิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแฟรนไชส์ A จึงขอให้ กมธ.ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย
ด้าน นาวสาวขัตติยา โฆษก กมธ กล่าวว่า กมธ.จะรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขโดยเร็ว เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งผู้บริโภค พนักงาน และการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะปัญหาการปรับลดค่าแรงพนักงานที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ A ไม่มีพนักงานเพียงพอที่จะส่งสินค้า ไปยังลูกค้าได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ถือเป็นการส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง
อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง
16 พ.ค.67 - กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค สผ.รับหนังสือจากผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งแฟรนไชส์ A กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินธุรกิจ ส่งผลขาดสภาพคล่องการบริหารงาน กระทบผู้บริโภคโดยตรง