นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาวิชาการสำนักงบประมาณของรัฐสภา เรื่อง วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี นายศิโรจน์ แพทย์พันธุ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ โดยการสัมมานาจัดขึ้น ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ได้กล่าวเปิดการสัมมนาและบรรยายพิเศษการเพิ่มขีดความสามารถและความอิสระของฝ่ายนิติบัญญัติในกระบวนการงบประมาณ ความตอนหนึ่งว่า รัฐสภาในฐานะองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศ รวมถึงการตรวจสอบและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของฝ่ายบริหาร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส คุ้มค่า และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันกระบวนการงบประมาณของไทยยังมีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งในแง่ของกฎหมาย ระเบียบ แนวปฏิบัติ ตลอดจนขีดความสามารถของบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนกระบวนการอนุมัติงบประมาณของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 สำนักงบประมาณของรัฐสภา หรือ Parliamentary Budget Office: PBO เป็นหน่วยงานวิชาการที่ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์วิจัย และจัดทำรายงานด้านเศรษฐกิจการเงินการคลัง การงบประมาณ ตลอดจนจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะกรรมาธิการ หรือคณะอนุกรรมาธิการ การสัมมนาครั้งนี้จึงมีความมุ่งหมายที่จะระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อหาแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถของรัฐสภาในกระบวนการงบประมาณให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง ด้านงบประมาณ ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากทุกหน่วยงาน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการวิเคราะห์และติดตามการใช้จ่ายงบประมาณแบบ Real-time เพื่อให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ควรมีการจัดทำดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณในมิติต่างๆ เพื่อใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐอย่างเป็นระบบ
นายพิเชษฐ์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ย้ำว่า ฝ่ายนิติบัญญัติต้องยกระดับขีดความสามารถของสำนักงบประมาณของรัฐสภา ทั้งการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย การประมาณการรายได้ ค่าใช้จ่ายที่เป็นผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติด้านการเงินการคลังเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อสมาชิกรัฐสภา การยกระดับการติดตามการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า ตลอดจนพัฒนาการจัดทำฐานข้อมูล และประเมินผลสำเร็จของการใช้เงินงบประมาณของรัฐ โดยควรปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังของสำนักงบประมาณรัฐสภาเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลางและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนนักวิเคราะห์งบประมาณที่มีความรู้ความสามารถเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่สมาชิกรัฐสภาในการพิจารณางบประมาณอย่างรอบด้านต่อไป
อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง