17 ก.ค.67 - กมธ. อุดมศึกษาฯ สผ. รับหนังสือจากนายเอกชัย  หงส์กังวาน ขอให้เอาผิดกับบริษัท ซีพีฯ หลังพบอาจมีส่วนทำให้ปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมตั้งข้อสังเกตไม่มีการส่งรายงานหลักฐานการทดลองเพาะเลี้ยงให้กับคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง

image

        นายณกร  ชารีพันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนางสาวรัชนก  สุขประเสริฐ โฆษกคณะอนุ กมธ. พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย รับหนังสือจากนายเอกชัย  หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง เรื่อง ขอให้ดำเนินคดีอาญากับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CP) และคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) เนื่องจาก เมื่อปี 2533 บริษัท ซีพีฯ ได้นำเข้าปลาหมอคางดำ จำนวน 2,000 ตัว มาเพาะเลี้ยงในศูนย์ทดลองของตนเองในตำบลยี่สา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขของคณะกรรมการ IBC ที่กำหนดให้ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ปลาสายพันธุ์นี้แพร่พันธุ์ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งต้องส่งซากปลาให้กับคณะกรรมการ IBC ภายหลังเสร็จสิ้นการทดลอง แต่ในปี 2555 ชาวบ้านพบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ในตำบลยี่สา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และกรมประมง ไม่สามารถกำจัดปลาหมอคางดำจนเกิดการแพร่พันธุ์ในวงกว้างในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม บริษัท ซีพีฯ กลับอ้างว่า ปลาหมอคางดำที่แพร่พันธุ์ในขณะนี้ไม่ได้เกิดจากการนำเข้าของตนเอง แต่เกิดจากการนำเข้าของกลุ่มเพาะเลี้ยงปลาหมอสีกลุ่มอื่น เพราะเป็นคนละสายพันธุ์กัน นอกจากนี้ ยังอ้างด้วยว่า ปลาหมอคางดำที่บริษัท ซีพีฯ นำเข้าจากทวีปแอฟริกา นั้น กว่าครึ่งหนึ่งตายตั้งแต่ยังไม่ถึงด่านกักกัน และทยอยตายเกือบหมดจนต้องยุติโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2554 ก่อนที่สุดท้ายจะส่งมอบปลาหมอคางดำที่นำเข้าที่เหลือ 50 ตัว คืนให้กับกรมประมง แต่มีข้อสังเกตว่า กรมประมงออกมายืนยันว่า ไม่เคยพบข้อมูลการส่งมอบปลาหมอคางดำสายพันธุ์นี้แต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่พบหลักฐานการฝังกลบซากปลาหมอคางดำ ไม่มีข้อมูลบันทึกการตรวจฟาร์มเพาะเลี้ยง รายงานผลการทดลอง และรายงานปลาตายจากบริษัท ซีพีฯ ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของคณะกรรมการ IBC นอกจากนี้ ผลการวิจัยของกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เรื่อง “การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร” ยืนยันว่า ปลาหมอคางดำที่กำลังแพร่ระบาดตามแนวชายฝั่งหลายจังหวัดในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้มีที่มาจากแหล่งเดียวกัน ดังนั้น ตนมีข้อสังเกตว่าบริษัท ซีพีฯ ได้พยายามปกปิดการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำที่ตนเองนำเข้าหรือไม่ ขณะที่คณะกรรมการ IBC ได้ปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจสอบและควบคุมบริษัท ซีพีฯ ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด ตนจึงขอเรียกร้องให้ คณะ กมธ. ติดตามและดำเนินคดีอาญากับบริษัท ซีพีฯ และคณะกรรมการ IBC รวมถึงเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อเยียวยาสิ่งแวดล้อมด้วย

        นางสาวรัชนก  สุขประเสริฐ โฆษกคณะอนุ กมธ. พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะ กมธ. เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อไป

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ