นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กรณีการขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำธุรกรรมและการชำระภาษีเกี่ยวกับการซื้อหุ้นมูลค่ากว่า 4,434 ล้านบาทของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งตนได้ตั้งข้อสังเกตว่า นางสาวแพทองธาร มีพฤติกรรมหนีภาษี ใช้ช่องว่างทางกฎหมายทำนิติกรรมอำพราง โดยการซื้อขายหุ้น โดยใช้ตั๋วสัญญาการใช้เงิน หรือตั๋ว PN
นายวิโรจน์ กล่าวว่า การประชุม กมธ.วันนี้(1 พ.ค. 68) อธิบดีกรมสรรพากรไม่ได้เดินทางเข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ.แต่ส่งผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีกลางมาชี้แจงแทน ซึ่งตนได้เสนอให้อธิบดีกรมสรรพากรส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรตรวจสอบ กรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้ตั๋วไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีการชำระเงิน สร้างรูปแบบในการซื้อหุ้นจากคนในครอบครัว เข้าข่ายนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่ แต่เป็นที่น่าตกใจ เมื่อทราบข้อมูลจากผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีที่ชี้แจ้งว่า คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรยังมีคณะกรรมการไม่ครบ ขาดองค์ประกอบในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน ซึ่งต้องแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หมายความว่าจะยังไม่สามารถวินิจฉัยกรณีของนายกรัฐมนตรีได้ นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ในฐานะประธาน กมธ.จึงให้ กมธ. เร่งทำหนังสือถึงนายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิโดยเร็ว
นายวิโรจน์ ย้ำว่า หากมีการดึงเวลาเตะถ่วงเรื่องนี้ออกไป อาจเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ส่วนการตรวจสอบกรณีการออกตั๋ว PN หลังจากซื้อหุ้นของคนในครอบครัวและเครือญาติของนางสาวแพทองธารนั้น ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีกลาง ระบุว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด ส่วนผู้แทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่ร่วมชี้แจงต่อ กมธ. ระบุว่าไม่มีอำนาจตรวจสอบบุคคล ตนเข้าใจได้ แต่ สตง.มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายและการจัดเก็บรายได้ ซึ่งกรณีตั๋ว PN ไม่มีระเบียบหรือกติกาที่ชัดเจนในการปฏิบัติว่าทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ สตง. มีอำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 85 เพื่อส่งความเห็นไปยังกรมสรรพากรให้ดำเนินการออกระเบียบและการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและเพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีการรับให้จากกรณีการออกตัว PN ได้
นายวิโรจน์ ย้ำว่า การดึงเวลาเช่นนี้ยิ่งทำให้นางสาวแพทองธาร มัวหมอง ในขณะที่ประชาชนต้องวางแผนจ่ายภาษีตามกฎหมาย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าหากจะมองกรณีของนางสาวแพทองธารว่าเป็นการวางแผนภาษี หากประชาชนทำรูปแบบเดียวกันกรมสรรพากรต้องให้สิทธิทำได้ด้วย ใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น สรรพากรต้องยอมรับว่าจะกระทบกับเรื่องการจัดเก็บภาษีการรับให้อย่างมากแน่นอน เพราะจะไม่มีประชาชนหรือผู้ประกอบการคนใดชำระภาษีการรับให้ แต่จะให้ลูกหลานทำตั๋ว PN มาแลกอยู่เรื่อยไป
นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ต่อให้มีช่องว่างทางกฎหมายที่สามารถแสวงหาประโยชน์จากการวางแผนภาษีได้ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็น ประมุขของฝ่ายบริหาร เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อพบช่องว่างนี้ ควรปิดช่องว่าง มิใช่เอาช่องว่างมาแสวงหาประโยชน์สู่ตนเอง ทั้งนี้ ตนจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป หากพบว่ามีความล่าช้าในการตรวจสอบจะยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ต่อไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่
อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง