18 ก.ค.68- ประธานรัฐสภาให้การรับรองเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ยืนยันไทยพร้อมสนับสนุนข้อเสนอเพื่อยุติสงคราม และสร้างสันติภาพของภูมิภาคตะวันออกกลาง ในเวทีประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศ ทั้งการประชุม “IPU-AIPA-APA” ย้ำ “อิสราเอล-สหรัฐ” ต้องปฏิบัติตามมติสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ

image

        นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรองนายนอเศเรดดีน ฮัยแดรี (H.E. Mr.Nassereddin Heidari) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาไทยกับและสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน รวมทั้งปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และอิหร่าน โดยมีนายวรวีร์ มะกูดี ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายธงชาติ รัตนวิชา เลขนุการประธานรัฐสภา นางจงเดือน สุทธิรัตน์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมให้การรับรอง ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา

        นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ไทยและอิหร่าน มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันทุกระดับ โดยเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ซึ่งในปี 2568 จะครบรอบ 70 ปี แต่ในทางทางประวัติศาสตร์ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ยาวนานกว่า 400 ปี นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดย เฉกอะหมัด กุมมี ชาวอิหร่านได้เข้ามารับราชการในราชสำนักไทยจนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทย และเป็นต้นสายสกุลบุนนาค ที่สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยจวบจนถึงปัจจุบัน และไทยขอขอบคุณทางการอิหร่านที่ให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันที่รัฐปาเลสไตน์ให้ได้กลับบ้านเกิด ทั้งนี้ ตนเชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของนายนอเศเรดดีน ฮัยแดรี เอกอัครราชทูตอิหร่านคนปัจจุบัน จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ตนยินที่ที่จะเดินทางเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค.68 ตามคำเชิญของทางการอิหร่าน เพื่อเยี่ยมเยือนให้กำลังใจรัฐบาลและประธานรัฐสภาอิหร่านในการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยตนขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวอิหร่านจากการโจมตีด้วยปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า อิหร่านเป็นประเทศที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและปกป้องศาสนาอิสลามและประชาชาติอิสลาม

        นายนอเศเรดดีน ฮัยแดรี กล่าวขอบคุณประธานรัฐสภาไทยที่ให้โอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและได้อธิบายข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และอิหร่าน รวมทั้งผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ทางการอิหร่าน มีความกังวลอย่างมากต่อปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรงของอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาที่ละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของอิหร่าน ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของภูมิภาคและสันติภาพของโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.68 ที่อิสราเอลได้ใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีพื้นที่พักอาศัยของประชาชน และโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์เพื่อสันติของอิหร่าน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ทหาร นักวิชาการ ครู อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนชาวอิหร่านผู้บริสุทธิ์ ต้องเสียชีวิตกว่า 1,100 คน ในจำนวนนี้เป็นสตรี 132 คน และเด็ก 45 คน มีผู้บาดเจ็บกว่า 5,750 คน ทั้งนี้ การโจมตีดังกล่าวได้สร้างความเจ็บปวดทั้งทางกาย และทางจิตใจต่อประชาชนชาวอิหร่านซึ่งยากจะฟื้นฟูได้ ต่อมาในวันที่ 22 มิ.ย.68 สหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ได้ร่วมกันโจมตีทางอากาศต่อพื้นที่นิวเคลียร์เพื่อสันติของอิหร่านในเมืองฟอร์โด อิสฟาฮาน และนาตันซ์ ซึ่งการแทรกแซงทางทหารโดยตรงของสหรัฐอเมริกาถือเป็นการละเมิดมติสหประชาชาติและข้อตกลงของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยเป้าหมายของการโจมตี คือ ที่อยู่อาศัย อาคารบ้านเรือน โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ รถพยาบาล เรือนจำ และพื้นที่นิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำอาชญากรรมสงครามต่อมนุษยชาติและละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 2 (4) ห้ามการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนหรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใด ๆ ดังนั้น อิหร่าน จึงมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการปกป้องอธิปไตยของตนเอง ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 51 เพราะอิหร่านไม่ได้เป็นผู้เริ่มต้นสงคราม แต่ถูกบังคับให้เข้าสู่สงครามจากการกระทำของสหรัฐอเมริกา โดยอิหร่านสามารถปกป้องดินแดนและประชาชนของตนเองได้ด้วยความมุ่งมั่นและกองทัพที่เข้มแข็ง 

        นายนอเศเรดดีน กล่าวถึงผลกระทบจากการโจมตีของอิสราเอล และสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่าน ว่า จะนำมาซึ่งความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง และอาจขยายวงกว้างไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากไทยพึ่งพิงพลังงานที่มาจากภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ อิสราเอล ยังปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) และครอบครองอาวุธทำลายล้างสูงและอาวุธนิวเคลียร์ โดยไม่แจ้งให้ประเทศอื่นรับทราบ ขณะที่ อิหร่าน ซึ่งไม่ได้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ กลับถูกโจมตีโดยสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ให้สิทธิ์ในการโจมตีหรือทำลายโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์เพื่อสันติในอิหร่าน ซึ่งได้รับการรับรองจาก IAEA ว่าไม่ใช่สถานที่พัฒนาอาวุธ และได้รับการคุ้มครองภายใต้มติของ IAEA และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกด้วย

        เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านฯ กล่าวด้วยว่า อิหร่านขอเรียกร้องให้ไทย ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ และเป็นประเทศที่ส่งเสริมสันติภาพระหว่างประเทศ ให้ร่วมประณามการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของอิสราเอล รวมทั้งคาดหวังอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยและรัฐสภาไทยจะออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่ออธิปไตยของอิหร่าน โดยอ้างอิงจากกฎหมายระหว่างประเทศ สหประชาชาติ และอาเซียน นอกจากนี้ อิหร่านได้ตัดสินใจจัดทำเอกสารเพื่อยื่นฟ้องอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาให้รับผิดชอบต่อการกระทำที่โหดร้าย ซึ่งถือเป็นภัยร้ายแรงต่อมนุษยชาติและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชน

        นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนรู้สึกเศร้าและเห็นใจอย่างยิ่งต่อโศกนาฏกรรมของชาวอิหร่าน ทั้งนี้ ประเทศไทยสนับสนุนข้อเสนอของสหประชาชาติและได้ประณามการกระทำดังกล่าวในอดีตและในครั้งนี้ด้วย โดยจะร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศในการประณามการกระทำเหล่านี้ เพื่อปกป้องความสมบูรณ์ของกฎหมาย สันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ นอกจากเวทีสหประชาชาติแล้วยังมีเวทีรัฐสภาระดับโลก ซึ่งตนในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมประชุม อาทิ การประชุมสหภาพรัฐสภาโลก (Inter-Parliamentary Union หรือ IPU) การประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter - Parliamentary Assembly : AIPA) การประชุมสมัชชารัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก (Asian Parliamentary Assembly: APA) เป็นต้น ทั้งนี้ ตนยินดีสนับสนุนข้อเรียกร้องของอิหร่านในการประชุมดังกล่าว และเชื่อว่าเวทีประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเวทีของประชาชนจะสามารถพูดได้กว้างขวางและชัดเจนกว่าเวทีของสหประชาชาติ โดยจะนำข้อมูลจากรายงานที่อิหร่านนำเสนอในวันนี้ไปใช้ประกอบการประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประชาคมโลกเข้าใจสถานการณ์ที่ชาวอิหร่านกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

 

ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ