นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม กมธ. โดยมีวาระพิจารณา เรื่อง การลักพาตัวชาวไทยโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือ กรณี นางสาวอโนชา ปันจ้อย ประชาชน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยนายเอบีฮาระ โทโมฮารุ ประธานกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่) เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงต้นปี 2521 นางสาวอโนชา ปันจ้อย เดินทางไปทำงานที่มาเก๊า พร้อมเพื่อนคนไทยและวันที่ 21 พ.ค.21 นางสาวอโนชา ถูกลักพาตัวจากมาเก๊าไปเกาหลีเหนือ โดยในเดือนต.ค.48 ครอบครัวของนางสาวอโนชา พบว่า นางสาวอโนชา ยังมีชีวิตอยู่จากการเปิดเผยข้อมูลของนาย Charles Robert Jenkins อดีตทหารอเมริกันหนีทัพที่เข้าไปเกาหลีเหนือจากนั้นได้มีความพยายามช่วยเหลือโดยประสานกับรัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่ผ่านมาและมีการหยุดชะงักในช่วงมีการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีเหนือยังคงปฏิเสธคำยืนยันของ นาย Charles Robert Jenkins และการมีอยู่ของนางสาวอโนชา ปันจ้อย ในเกาหลีเหนือ ขณะที่การเจรจาเพื่อขอส่งตัวนางสาวอโนชา กลับประเทศไทยระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเกาหลีเหนือมากกว่า 19 ปี ยังไม่มีความคืบหน้า
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กมธ. เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อีกทั้ง ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance-ICPPED) จึงเห็นสมควรมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการดำเนินการและการให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการกระทำให้บุคคลสูญหาย (อุ้มหาย) นอกราชอาณาจักร กรณีนางสาวอโนชา ปันจ้อย โดยมีตัวแทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กระทรวงยุติธรรม กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการพิเศษฝ่ายประจำสำนักงานอัยการสูงสุด (เลขานุการรองอัยการสูงสุด) และนายเอบีฮาระ โทโมฮารุ ประธานกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่) เข้าร่วมประชุม
ประธาน กมธ. การพัฒนาการเมืองฯ กล่าวด้วยว่า กรณีดังกล่าวเป็นการสูญหายนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว อีกทั้งยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ จะมีบทบาทและสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้กฎหมายมีผลในทางปฏิบัติ รวมทั้ง กระทรวงการต่างประเทศ น่าจะมีบทบาทไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง