9 พ.ค.67 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เปิดโครงการเสวนาทางวิชาการในโอกาสครบรอบ 100 ปี การบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หวังทุกภาคส่วนร่วมสะท้อนปัญหา - เสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมาย มุ่งประเด็นเกณฑ์อายุการบรรลุนิติภาวะ

image

   นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเสวนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี การบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จัดโดย คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-4 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วม จำนวน 200 คน ประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภา บุคคลในวงงานรัฐสภา นักกฎหมายนิติบัญญัติ บุคลากรส่วนราชการสังกัดรัฐสภา นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป 

   โอกาสนี้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อเหตุใดจึงต้องปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า เหตุผลและความจำเป็นในการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นป็นกติกาพื้นฐานในชีวิตของผู้คนที่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ปรากฏว่าไม่เคยมีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมขนานใหญ่แบบองค์รวม ในขณะที่ประมวลกฎหมายของประเทศต้นแบบนั้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัยแล้ว ด้วยเหตุนี้ สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในฐานะสถาบันนิติบัญญัติ และผู้แทนปวงชนชาวไทย จึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผ่านกลไกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในแต่ละพื้นที่ และระบบการรับฟังความคิดเห็นของสถาบันพระปกเกล้า (LawLink) เพื่อนำความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาศึกษา วิเคราะห์ และนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจน จะมีส่วนช่วยให้การดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนการดำเนินการต่าง ๆ ของประชาชนเป็นไปอย่างสะดวกและเป็นการพัฒนคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ในอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม การเสวนาทางวิชาการในวันนี้ (9 พ.ค.67) จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการรับฟังความคิดเห็น โดยเลือกประเด็นอายุในการบรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและไม่เคยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมานับแต่การบังคับใช้ ซึ่งคนในเวทีเสวนาในครั้งนี้ สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นดักล่าวผ่านระบบ LawLink ของสถาบันพระปกเกล้า รวมถึงความคิดเห็นต่อบทบัญญัติอื่น ๆ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่สมควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อที่คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎร จะได้นำข้อมูลต่าง ๆ ไปใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ ต่อไป

   สำหรับการจัดโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในชีวิตประจำวันของประชาชน พร้อมกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการศึกษา วิเคราะห์ ถึงความสอดคล้องของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมไปถึงเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจน เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการริเริ่มแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากกฎหมายที่อาจไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยบรรยากาศภายในงาน มีกิจกรรมปาฐกถาพิเศษและเสวนาทางวิชาการ ประกอบด้วย การบรรยายหัวข้อระบบการรับพังความคิดเห็นตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ (LawLink) โดย วิทยากรจากสถาบันพระปกเกล้า  การเสวนาทางวิชาการ หัวข้อการบรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ : ล้าสมัยแล้วหรือไม่? โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากนี้ ประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นในแต่ละหัวข้ออภิปรายที่เกิดประเด็นขึ้นในสังคมทาง http://www.lawlink.kpi.ac.th 

คณรัตน์ ยินดีมิตร / ข่าว / เรียบเรียง 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ