25 พ.ค.67 - นายร่มธรรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ จี้ รัฐบาล ให้ความสำคัญและผลักดันเศรษฐกิจภาคใต้ ทุกมิติ อย่างจริงจัง ชี้ หากรัฐจะขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและ soft power ไม่จำเป็นต้องสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ควรมุ่งเตรียมคนให้พร้อมรองรับงานบริการมากขึ้น

image

   นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองโฆษกพรรค กล่าวถึงความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจภาคใต้ ว่า ตนเห็นด้วยอย่างมากต่อการลงทุนในสาธารณูปโภคอุปโภคพื้นฐาน เช่น การคมนาคมหรือขนส่งที่ยังต่ำกว่ามาตรฐาน รัฐบาล จำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมระหว่างเมืองด้วย เพราะการสร้างหัวเมืองทางเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับโครงสร้างการเมือง คือ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ตนเชื่อว่า ถ้าเริ่มต้นผลักดันตรงนี้อย่างจริงจังจะเป็นการผลักดันเศรษฐกิจภาคใต้ให้รุ่งเรืองขึ้นพร้อมกันได้ทุกพื้นที่ 

   นายร่มธรรม กล่าวถึงเรื่องราคาสินค้าเกษตร ว่า ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจภาคใต้ขึ้นอยู่กับราคายางและราคาปาล์ม พืชเศรษฐกิจหลักสองชนิดนี้มาตลอด ซึ่งมีความผันผวนสูงไปตามราคาตลาดโลก โดยที่ผ่านมา ยังขาดกลไกเข้าไปช่วยในการแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ เข้าไปช่วย ซึ่งเรื่องนี้อาจเชื่อมโยงกับเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรต่อยอดหรือเข้าถึงแหล่งเงินทุนไปทำอะไรใหม่ ๆ ไม่ต้องส่งดอกเบี้ยต่อหนี้ไปทั้งชีวิต และไม่ใช่แค่เรื่องเกษตรเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงเรื่องอื่น ๆ เช่นการเติบโตของ SMEs ด้วย เรื่องแหล่งทุนจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะเป็นพื้นฐานของการยกระดับเศรษฐกิจ และเป็นการตัดวงจรของหนี้นอกระบบ ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม ตนมองว่าเป็นกรอบความคิดที่สำคัญและแตกต่างจากที่รัฐคิด แต่ส่งผลมาก เพราะจุดเด่นของภาคใต้ก็คือความหลากหลายทางธรรมชาติ ที่มีทั้ง ภูเขา ทะเล ทุ่งนา หรือภูมิประเทศแบบลากูนขนาดใหญ่ เป็นต้น

   นายร่มธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายจากทั่วโลกได้แน่นอน รวมถึงการเที่ยวในประเทศเองก็ยังต่อยอดได้อีกมาก สิ่งแวดล้อมยังสร้างวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเลใต้ หากขายความสดใหม่และความอุดมสมบูรณ์ก็ยิ่งชวนลิ้มลอง ซึ่งความหลากหลาย อาจนำไปสู่วัตถุดิบใหม่ ๆ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่นคราฟต์เบียร์ จิน สุราท้องถิ่น นอกจากนี้ ภาคใต้ยังมีการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติให้ต่อยอดได้อีกหลายสิ่ง ไม่ว่าการล่องแก่ง การแช่น้ำร้อน การเที่ยวตลาดจากผลิตภัณฑ์สินค้าอินทรีย์ เป็นต้น

   นายร่มธรรม กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งที่ตนค่อนข้างกังวลคือวิธีคิดแบบเก่าของภาครัฐที่ยังไม่ไปไหน ยังคงวนเวียนอยู่ในจินตนาการความสำเร็จยุคทศวรรษ 2500 ที่เน้นลงทุนในประเภทนิคมอุตสาหกรรมหรือโครงการขนาดใหญ่อย่างแลนด์บริดจ์ ที่หากเกิดขึ้นจริงจะหมายถึงการเสียต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาคใต้ไปอย่างยากจะหวนคืนได้ ถ้าปล่อยไปถึงตอนนั้นคงน่าเสียดายมาก พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า การลงทุนในคนก็มีความสำคัญ หากสมมติว่ามีการตกผลึกร่วมกันว่า การพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้จะขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและ soft power ที่ไม่จำเป็นต้องสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สิ่งที่เราอาจต้องคิดถึงให้มากคือการเตรียมคนให้พร้อมเข้าสู่วิถีของงานบริการที่มากขึ้นเช่นกัน เช่น ทักษะทางภาษา การจัดการโรงแรมหรือที่พักขนาดเล็ก การจัดการการท่องเที่ยว การจัดการขยะ หรือแม้แต่เรื่องการเงินการบัญชีที่ต้องเรียนรู้เพื่อการจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ การสื่อสารเชิงวัฒนธรรมด้วยเพลงหนังละคร หากดูจากโมเดลของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เราก็ควรสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และทดลองทำสิ่งเหล่านี้ให้เต็มที่ ด้วย 

 

คณรัตน์ ยินดีมิตร / ข่าว / เรียบเรียง 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ