นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ในฐานะผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ระหว่างวันที่ 13-14 ก.พ.68 ว่า ส่วนตัวเห็นว่า หากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ถือว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ทั้งนี้ วาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่เป็นเพียงข้อเรียกร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือเป็นนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภาเป็นสัญญาประชาคมตั้งแต่เดือน ก.ย.67 ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้วาระดังกล่าวสำเร็จ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีเพียงร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น และในวันนี้ (11 ก.พ.68) จะมีการประชุม ครม. ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคาดหวังว่าจะมีสัญญาณอะไรออกมา ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ารัฐสภาไม่สามารถที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้นั้น ตนเห็นว่าตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ลงวันที่ 11 มี.ค.64 ในย่อหน้าสุดท้ายระบุว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ หรือบางคนอาจจะมองว่า แม้รัฐสภาจะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ก็ต้องมีการจัดทำประชามติ ก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระรับหลักการ ซึ่งจะเกิดขึ้นในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ ส่วนตัวเห็นว่า แม้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะมีมติเห็นชอบ ก็ไม่ได้นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที แต่ต้องมีการทำประชามติก่อนหลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 3 ตามมาตรา 256 (8) และหลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็จะต้องมีการทำประชามติอีกรอบ
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า พรรคประชาชน ได้เตรียม สส.ของพรรคจำนวน 30 คน ในการอภิปรายให้สมาชิกรัฐสภาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ทราบถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และความจำเป็นที่ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้จะคาดการณ์การลงมติล่วงหน้าไม่ได้ แต่พรรคประชาชนยินดีรับฟังทุกข้อทักท้วงและชี้แจงทุกข้อสงสัย ส่วนที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนหรือไม่ หรืออาจมีการเสนอญัตติส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวก็จะอภิปรายว่าไม่เห็นด้วย และยืนยันว่า พรรคประชาชนทำตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกอย่าง แต่หากที่ประชุมฯ ไม่เห็นชอบพรรค ประชาชนก็จะหาแนวทางต่อไปในการผลักดันที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง