2 มิ.ย.66 – กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา พร้อมผลักดันงบพัฒนาวัคซีนโควิด – 19 และการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ รองรับโรคอุบัติใหม่ หลังพบปัจจุบันไทยมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ส่งผลให้การพัฒนาชะลอตัว

image

        คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา ที่มีนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาศึกษาและติดตามความก้าวหน้าและการพัฒนาวัคซีนโควิด -19 ของประเทศไทย โอกาสในการนำมาใช้ พร้อมทั้งปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 ศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เข้าร่วมประชุม

        โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลว่า โครงการพัฒนา mRNA ของศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการพัฒนาแบ่งเป็น 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทยจากความร่วมมือของแพทย์นักวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยวัคซีนประสบผลสำเร็จ สำหรับการทดลองในลิง และหนู พบว่า วัคซีนสามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิต และทดสอบทางคลินิก ส่งผลนำไปสู่การพัฒนาวัคซีน รุ่นที่ 2 ChulaCov19 BNA159.2 (Bivalent Vaccine) เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมหรือที่เรียกกันว่าเชื้อกลายพันธุ์ ทั้งนี้ ในการดำเนินการทดสอบวัคซีน รุ่นที่ 2 ในมนุษย์สำหรับกลุ่มตัวอย่าง ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณที่มีไม่เพียงพอ ส่งผลให้การทดสอบในกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวต้องชะลอออกไป ดังนั้น หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม และผลการทดสอบดังกล่าวมีประสิทธิภาพ โดยจะดำเนินการขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับทางสำนักงานองค์การอาหารและยา (อย.) ต่อไป นอกจากนี้ ทางศูนย์วิจัยวัคซีนได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ เช่น วัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนภูมิแพ้ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ ยารักษาโรคมะเร็ง การวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 ชนิดเชื้อตาย ขององค์กรเภสัชกรรม โดยความร่วมมือจากหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งข้อดีของวัคซีนเชื้อตาย คือ วัคซีนมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่มากกว่า 80 ปีมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีและมีโรงงานสำหรับการผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม ณ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

         ภายหลังการพิจารณา กมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า การพัฒนาวัคซีนโควิดยังมีข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณของฝ่ายบริหาร สำหรับในการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ส่งผลให้การพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 ชะลอตัว ดังนั้น กมธ.ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันงบประมาณดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ทำการศึกษาและพัฒนาด้านวัคซีนต่อไปแม้สถานการณ์โควิดได้ทุเลาลง ตลอดจนการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ด้านอื่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับหากเกิดโรคอุบัติใหม่

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ

 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ