นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงปัญหาการฝึกงานของนักศึกษาอาชีวะหลักสูตรระบบทวิภาคี ที่แม้ว่าเป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ โดยการจัดหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษา และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ ซึ่งสถานประกอบการจะให้นักศึกษาทำงานเป็นหลัก มีการสอนงาน และมีการจ่ายค่าตอบแทนให้นักศึกษาเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ซึ่งนับว่าแนวคิดการจัดการศึกษาที่ดีเพื่อเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการทำงานจริง แต่ได้รับการร้องเรียนจากนักศึกษาว่า หลักสูตรการจัดการโรงแรมของสถาบันการศึกษาในจังหวัดใหญ่ของภาคเหนือ สถานประกอบการซึ่งเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ ได้รับนักศึกษาทีเรียนระบบทวิภาคี โดยภาคปฏิบัติได้ใช้นักศึกษาทำงานเกินเวลาที่กฎหมายแรงงานกำหนด โดยทำงานต่อเนื่องวันละ 10 - 12 ชั่วโมง และชั่วโมงการทำงานในแต่ละสัปดาห์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มีการสอนงานน้อย จ่ายค่าตอบแทนต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอย่างมาก รวมทั้งมีวันหยุดที่ไม่แน่นอน
นายแพทย์อำพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานประกอบการมีสิทธิในการประเมินนักศึกษาว่าผ่านหรือไม่ผ่านการศึกษาในช่วงปีสุดท้าย ทำให้นักศึกษาบางส่วนลาออกจากการศึกษา เพราะทนต่อแรงกดดันไม่ไหว จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ตรวจสอบ และดูแลนักศึกษาไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก เพื่อรักษามาตรฐานการศึกษาในการผลิตนักศึกษาอาชีวศึกษาหลักสูตรระบบทวิภาคี
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง