นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณช่องบก อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยต้องการทราบว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการสถานการณ์อย่างไร โดยเฉพาะการใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม มีวุฒิภาวะ รอบคอบ และไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนวงกว้าง สำหรับกรณีคลิปเสียงสนทนาระหว่างนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชานั้น มีสาเหตุมาจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดและการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำประเทศจนนำไปสู่วิกฤตที่ยากจะคลี่คลาย ทั้งนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการหลากหลาย ทั้งทางทหาร การกดดันทางเศรษฐกิจ และการพุ่งเป้าไปที่เครือข่ายกลุ่มอิทธิพลของผู้นำกัมพูชา อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรายงานข่าวตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.68 ว่า กัมพูชาได้ปรับกำลังถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาทแล้ว แต่การควบคุมด่านชายแดนแบบจำกัดเวลาที่รัฐบาลใช้อยู่ ถือเป็นมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพแต่ก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยเป็นวงกว้างเช่นกัน ดังนั้น ตนมีคำถามว่า เมื่อกัมพูชาถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาทแล้วสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชายังมีความตึงเครียดหรือมีการกดดันทางทหารจากกัมพูชาอยู่หรือไม่ และรัฐบาลได้ควบคุมด่านชายแดนไทย-กัมพูชา อย่างไร รวมทั้งการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ และการดำเนินคดีกรณีลอบสังหารฝ่ายค้านกัมพูชาในประเทศไทย
พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ตอบกระทู้ถาม พร้อมชี้แจงภาพรวมการดำเนินงานของรัฐบาล ว่า แม้กัมพูชาจะเคลื่อนย้ายกำลังกลับจากจุดที่เผชิญหน้ากันเมื่อวันที่ 28 พ.ค.68 ช่วยลดความตึงเครียดไปได้ แต่ กำลังส่วนที่เหลือยังคงมีทั้งอาวุธหนัก รถถังและปืนใหญ่ ยังเป็นกำลังระลอก 2 ที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงที่หากวันใดที่เกิดความไม่เข้าใจกันแล้วอาจจะทำให้สถานการณ์บานปลายถึงขั้นที่ใช้อาวุธหนักต่อกันได้ ดังนั้น รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) ภายใต้การอำนวยการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นกลไกของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเรือน กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ยึดถือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นรัฐในการเจรจา และคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนไทยและกัมพูชา ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการตัดสินใจท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคม ทั้งนี้ ยืนยันว่า กองทัพมีการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาอธิปไตยภายใต้กรอบสันติวิธี และไม่ได้ปล่อยให้กองทัพมีอำนาจโดยลำพัง แต่เป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ ศบ.ทก. ซึ่งขณะนี้ เริ่มมีสัญญาณบวกที่กัมพูชาเริ่มกลับเข้าสู่การเจรจาแบบทวิภาคีที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาชายแดนโดยสันติ ผ่านคณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee – JBC) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC) และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย ทั้งในด้านการใช้อาวุธและความเดือดร้อนของประชาชน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวยอมรับว่า มีความท้าทายจากกระแสสังคม โดยประชาชนตามแนวชายแดน เช่น อุบลราชธานี สุรินทร์ และสระแก้ว เรียกร้องให้รัฐบาลยุติสถานการณ์โดยเร็ว เพราะประสบความเดือดร้อนอย่างมาก และห่วงใยทั้งความปลอดภัยและเศรษฐกิจ ขณะที่ประชาชนในส่วนกลางบางส่วนไม่ต้องการให้รัฐบาลอ่อนข้อ และต้องการให้ใช้มาตรการที่เข้มแข็งเพื่อยึดถือศักดิ์ศรีของประเทศ ดังนั้น การตัดสินใจในแต่ละเรื่องจึงต้องใช้ความรอบคอบ ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักว่าความตึงเครียดเกิดจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านอาจมีการชี้นำจากฝ่ายการเมืองหรือผู้นำบางคน ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องขยายความตึงเครียดนี้ไปสู่ประชาชนทั่วไป เพราะประชาชนทั้งสองประเทศอยู่ติดกันและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ประชาชนไม่ควรเป็นเหยื่อการเมืองระดับรัฐ ทั้งนี้ รัฐบาลมีมาตรการควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวด เนื่องจากมีข้อมูลชัดเจนว่าทางการกัมพูชามีคำสั่งกำลังเคลื่อนย้ายเข้ามาในพื้นที่ชายแดนอยู่เสมอ ทำให้ฝ่ายไทยจำเป็นต้องเสริมกำลังเพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคงภายใต้ในกรอบสันติวิธี และหลีกเลี่ยงการปะทะโดยเด็ดขาด หากกัมพูชาไม่ล่วงล้ำอธิปไตยด้วยกำลังติดอาวุธ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงแนวทางปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ว่า รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในการปราบปรามขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะเครือข่ายสแกมเมอร์ ที่แฝงตัวอยู่ใกล้ชายแดนจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบและควบคุมการเข้าออกชายแดนอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ทุกมาตรการรัฐบาลยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งหวังให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณชายแดนกลับสู่สภาพปกติสุขโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งยึดหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง