25 ก.พ. 67 - สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แก้ปัญหาการคุกคามทางเพศ เพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

image

            สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอโดย นางสาวภคมน หนุนอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่เป็นร่างการเงิน โดยเห็นว่าเนื่องจากปัจจุบันความรุนแรงและภัยคุกคามทางเพศได้เกิดขึ้นในสังคมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) เป็นปัจจัยหนึ่งของการสร้างความรุนแรงทางเพศ และเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำผิดทางเพศอย่างอื่น เช่น ปัญหาข่มขืนกระทำชำเรา ปัญหาอนาจาร เป็นต้น อีกทั้งการคุกคามทางเพศยังเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และเป็นปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งการคุกคามทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ในทุกที่ ทุกเวลาในสังคม ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก ประกอบกับกฎหมายที่บังคับเกี่ยวกับการคุกคามในปัจจุบันเป็นเพียงความผิดลหุโทษ กำหนดลักษณะการกระทำความผิดไว้อย่างกว้าง ขาดความชัดเจน กำหนดลักษณะพฤติกรรมการคุกคามทางเพศโดยการสัมผัสทางกายเพียงอย่างเดียว ไม่ครอบคลุมถึงการคุกคามทางเพศด้วยวิธีการอื่น ทำให้ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ไม่สามารถคุ้มครองประชาชน ซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการถูกคุกคามทางเพศได้ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้ได้กฎหมายที่มีมาตรฐานและมีแนวทางป้องกันปัญหาทางเพศในสังคม

            สำหรับประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น ได้แก่ เห็นว่าการเพิ่มบทคำนิยาม คำว่า คุกคามทางเพศ มีความเหมาะสมและครอบคลุมการคุกคามทางเพศ หรือไม่ อย่างไร เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้คำสั่งงดเว้นการกระทำการ เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการที่ศาลสามารถสั่งผู้ถูกฟ้องไม่ให้กระทำการใด ๆ อันเป็นการคุกคาม รบกวน ข่มขู่ หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญ เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้การคุกคามทางเพศและการคุกคามทางเพศที่กระทำโดยผ่านช่องทางการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และการกำหนดอัตราโทษมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เห็นว่าการคุกคามทางเพศในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร ตลอดจนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ

            ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ ผ่านเว็บไซต์ www.parliament.go.th หมวดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 21 มีนาคม นี้

 

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

เว็บไซต์ www.parliament.go.th ข้อมูล / ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ