ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ประชุมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้ประเด็นแนวทางการคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคของ ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
โดย พันตำรวจเอก ภาคภูมิ ศรีลาภะมาศ รอง ผบก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่ ได้นำเสนอกรอบภารกิจและโครงสร้างของหน่วยงานในการรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นเกี่ยวกับความผิดทางอาญา สืบสวนสอบสวนความผิดที่มีโทษทางอาญาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือตามที่ได้รับมอบหมายปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในช่วงปี 2566-2568 บก.ปคบ. มีการดำเนินคดี จำนวน 2,148 คดี โดยคดีเกี่ยวกับอาหารและยามีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดปัญหาสำหรับอุปสรรคการดำเนินงาน เช่น ปัจจุบันมีการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าอยู่ต่างประเทศทำให้สืบสวนไม่ถึงผู้จำหน่ายที่แท้จริง เจ้าพนักงานไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทำให้การตรวจค้นจับกุมต้องดำเนินการโดยหน่วยงานภาคี และ สถานที่จัดเก็บหรือโกดังของกลางไม่เพียงพอ เป็นต้น โดยบก.ปคบ. มีข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมธุรกิจดิจิทัลและกฎหมายอื่น ๆ กำหนดระยะเวลาการประสานงานกับหน่วยงานหรือเอกชน รวมทั้งการรวบรวมพยานหลักฐานให้มีความชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานให้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานเพิ่มขึ้น
จากนั้น กมธ.ได้ประชุมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยมี นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ นำเสนอข้อมูลภารกิจของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเกิดจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46 และพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เฝ้าระวัง เตือนภัยปัญหาสินค้าและบริการ ไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาทการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เสนอนโยบายต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดจนสนับสนุนการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคในระดับพื้นที่สภาองค์กรของผู้บริโภคมุ่งหมายสร้างเครือข่ายสมาชิกให้ครบทุกจังหวัด เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก โดยในปี 2568 มีองค์กรสมาชิก 352 องค์กร จังหวัดที่มีสมาชิก 58 จังหวัด หน่วยงานประจำจังหวัด 20 แห่ง และหน่วยงานเขตพื้นที่ 4 แห่ง ตั้งแต่กันยายน 2567–มิถุนายน 2568 สภาองค์กรของผู้บริโภครับเรื่องร้องทุกข์ 15,092 เรื่อง แก้ไขปัญหาให้ผู้ร้องเรียนจนยุติได้ร้อยละ 64 เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นปัญหาสินค้าและบริการทั่วไป ปัญหาการเงินการธนาคาร และปัญหาการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างไรก็ตามปัญหาอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งของการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค คือ งบประมาณไม่เพียงพอ ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานใน 3 ปี (2568-2570) ได้แก่ การลดความเสียหายจากภัยมิจฉาชีพออนไลน์ เมืองที่เป็นธรรมด้านการขนส่งมวลชน อสังหาริมทรัพย์และการบริการสาธารณะ การมีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย สิทธิบริการสุขภาพที่เท่าเทียมและมีมาตรฐาน
อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง
สำนักประชาสัมพันธ์ วุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ
