24 มี.ค. 67 - คณะกมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สผ. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เตรียมความพร้อมลุยสนาม สว. สร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ กระบวนการเลือกตั้ง แก่ประชาชนและผู้ประสงค์ลงสมัคร

image

            คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องเตรียมความพร้อมลุยสนาม สว. เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และกระบวนการเลือกตั้ง สว. แก่ผู้มีความประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว. และประชาชนผู้ที่สนใจ จำนวน 250 คน ณ ห้องประชุมสัมมนา B1 - 2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา โดยมี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกมธ. เป็นประธานเปิดการสัมมนา ซึ่งกล่าวว่า สว.ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 11 พ.ค. นี้ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการคัดเลือก สว. ชุดใหม่ มาทำหน้าที่จำนวน 200 คน โดยมีที่มาจากกระบวนแบ่งตามกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่มอาชีพ คณะกมธ.จึงจัดการสัมมนาครั้งนี้เพื่อสะท้อน 4 ประเด็นที่ยังสร้างความสับสนให้กับประชาชนประกอบด้วย ประเด็นด้านโครงสร้าง อำนาจ และที่มาของ สว.ชุดใหม่ มองว่ายังเป็นวุฒิสภาที่มีอำนาจสูง เมื่อเทียบกับที่มาที่ยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน กระบวนการคัดเลือก สว. ไม่สอดรับกับเป้าหมายในการได้มาซึ่ง สว. ที่มีความเชี่ยวชาญหรือเป็นที่ยอมรับในแต่ละสาขาอาชีพ ส่วนด้านกระบวนการคัดเลือก สว. มองว่ายังเสี่ยงต่อการบล็อกโหวตจัดตั้ง (Inorganic Block Vote) โดยแทนที่จะเกิดการแข่งขันกันโดยธรรมชาติระหว่างผู้สมัครแต่ละคน แต่พบว่ากติกาปัจจุบันเอื้อต่อการทำให้ผู้สมัคร สว. บางคน มีความพยายามจัดตั้งเครือข่ายของตนเองสมัครเข้ามาเป็นผู้สมัครเป็นจำนวนมากและกระจายไปในทุกกลุ่มอาชีพ ทุกพื้นที่เพื่อให้ร่วมกันเลือกตนเองไปเป็น สว. และกระบวนการคัดเลือก สว. ยังมีความซับซ้อนและความไม่ชัดเจนในเชิงปฏิบัติหลายด้าน อาทิ การตรวจสอบคุณสมบัติ การออกประกาศการรณรงค์หาเสียง การอนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระจากภาคประชาชน และกรอบเวลาการประกาศผล จึงขอสื่อสารไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ออกระเบียบ ประกาศ ให้เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และสื่อสารไปยังประชาชนทุกคนให้ติดตามกระบวนการคัดเลือก สว. ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส พร้อมขอให้กลุ่มคนที่ได้เป็น สว.ชุดใหม่ ตระหนักถึงการใช้อำนาจหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและเกิดความเป็นธรรม 

          จากนั้นเป็นการบรรยายเพื่อสร้างความความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประเด็น สว.มีไว้ทำไม สว.จำเป็นต้องมีหรือไม่ ถ้ามีควรมีเพื่ออะไร โดยศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังจัดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนปัจจัยสำคัญ อุปสรรค ในการทำหน้าที่ของ สว. และกระบวนการคัดเลือก สว.โดยวิทยากรหลายภาคส่วน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อาจารย์พิเศษประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีต สว. นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีต สว. ศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ilaw การสัมมนาเชิงปฏิบัติการประเด็น สว.ที่คุณอยากเห็นและประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือก สว.อย่างไร โดยการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และจำลองสถานการณ์บรรยากาศการเลือกตั้ง สว. โดยแบ่งตามกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น 

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ