30 เม.ย.67 – กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา ติดตามผลดำเนินโครงการรณรงค์หยุดมะเร็งปากมดลูก แบบแยก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง พบปัจจุบันตรวจคัดกรองประชาชนได้เพียง 2 หมื่นคนเท่านั้น หลังพบปัญหาข้อมูลบัตรประชาชน แนะบูรณาการการทำงานร่วมกับมูลนิธิภาคเอกชนและแพทย์ชนบท ขยายผลดำเนินงานให้ครอบคลุมประชากร

image

               นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับผลการดำเนินงานโครงการ "รณรงค์หยุดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย" โดยการตรวจคัดกรองด้วยวิธี HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง โดยมี ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมให้ข้อมูลว่า สปสช.ได้กำหนดสิทธิการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยง เริ่มดำเนินการในปี 2563 กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ครบ 1 ล้านคนทั่วประเทศ ภายในปี 2567 เป็นวิธีการที่ให้ประชาชนตรวจได้ด้วยตนเอง โดยให้ อสม.เป็นกลไกสำคัญในการให้คำแนะในการตรวจ ซึ่งเป็นการบริการที่นำมาทดแทนการตรวจคัดกรองแบบดั้งเดิม (Pap smear) โดยมีค่าบริการเหมาจ่าย 2 รูปแบบ คือ การตรวจโดยใช้น้ำยาชนิด 2 สายพันธุ์ ค่าบริการเหมาจ่าย 280 บาทต่อครั้ง และการใช้น้ำยาชนิด 14 สายพันธุ์ค่าบริการเหมาจ่าย 370 บาทต่อครั้ง ทั้งนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราค่าบริการตรวจให้เป็นอัตราเดียวกัน ซึ่งจะให้มีผลเริ่มใช้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567

               ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้บริการตรวจคัดกรองได้ในโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีห้องปฏิบัติการตรวจ ปัจจุบันมีจำนวน 254 แห่ง แบ่งเป็นการตรวจคัดกรองแบบ 2 สายพันธุ์ จำนวน 111 แห่ง และบริการแบบแยก 14 สายพันธุ์ จำนวน 109 แห่ง รวมทั้งการตรวจคัดกรองได้ทั้ง 2 แบบ จำนวน 34 แห่ง ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองแบบแยก 14 สายพันธุ์ ได้เพียงประมาณ 20,000 คน เท่านั้น เนื่องจากยังพบปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลบัตรประชาชนและเป็นการดำเนินการในระยะแรกของโครงการ ซึ่งต้องมีการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง

             ภายหลังการพิจารณา กมธ.ได้ชื่นชมโครงการซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก พร้อมให้ข้อเสนอแนะว่า ควรมีการร่วมมือกับมูลนิธิภาคเอกชนและด้านแพทย์ชนบท รวมทั้งกรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานการดำเนินงานร่วมกันให้ครอบคลุมประชากร นอกจากนี้ ควรมีการทบทวนสิทธิในการตรวจคัดกรองให้ประชาชนสามารถตรวจคัดกรองได้เพียงรูปแบบเดียว เนื่องจากมีต้นทุนแตกต่างกัน โดยกำหนดให้มีการตรวจชนิด 2 สายพันธุ์ ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นมะเร็งปากมดลูก คือ สายพันธุ์ที่ 16 สายพันธุ์ที่ 18 และสายพันธุ์อื่นๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ต้นทุนการตรวจลดลง และให้ผลการตรวจนำไปสู่การรักษาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ