3 พ.ค.67-กมธ. การศาสนาฯ วุฒิสภา ร่วมกับ สสส. จัดสัมมนาเชิงวิชาการ "การบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปด้านศิลปะวัฒนธรรม" หวังใช้ภูมิพลังวัฒนธรรม มาขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

image

        คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะ กมธ. การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ร่วมกับแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “การบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปด้านศิลปวัฒนธรรม” โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) คณะอนุ กมธ. ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน (คสช.) นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มเยาวชน จ.พัทลุง เข้าร่วมสัมมนา ณ ห้องประชุม 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา ฝั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 

         นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา กล่าวเปิดการสัมมนา ว่า การพัฒนาประเทศผ่านมิติทางศิลปวัฒนธรรมนั้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายของภาครัฐในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงการใช้ภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power) มาเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นการนำวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรม มรดกทางภูมิปัญญาต่าง ๆ ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้มาสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าในทางเศรษฐกิจ และถือเป็นรูปแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการจัดการสัมมนาครั้งนี้ จึงถือเป็นการจุดประกายให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ โดยนำรายงานการพิจารณาศึกษาของคณะ กมธ. ในด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ได้เสนอต่อวุฒิสภาไปแล้ว ทั้ง 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม เรื่องภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน เรื่องการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน และเรื่องภูมิพลังวัฒนธรรม มาวิเคราะห์ และสังเคราะห์นำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะด้านศิลปะวัฒนธรรมเสนอรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

        รศ.ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ ประธานคณะทำงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมภายใต้แนวคิดไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า สาระสำคัญของ ภูมิพื้นที่ไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม นั้น คนในพื้นที่หรือชุมชนต้องมีความตระหนักและเข้าใจเรื่องการนำทุนวัฒนธรรมมาสร้างเป็นมูลค่า ทั้งด้านภูมิภาษา และวรรณศิลป์ ภูมิปัญญาแผ่นดิน และภูมิพลังวัฒนธรรม ซึ่งการจะพัฒนาให้ทุนทางวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นเกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อไปได้นั้น จำเป็นต้องมีกลไกขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้วย โดยเฉพาะการจัดตั้ง “สถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน (องค์การมหาชน)" ขึ้นมา ดังนั้น คณะอนุ กมธ. จึงจัดสัมมนานี้ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปด้านศิลปะวัฒนธรรม ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือและศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

        ภายในการสัมมนาครั้งนี้ ได้จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัลเกียรติคุณแก่บุคคล/องค์กรต้นแบบที่มีผลงานโดดเด่นด้านการปฏิรูปศิลปะและวัฒนธรรมทั้ง 4 สาขา ได้แก่ สาขาภูมิพื้นที่ไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม ประเภทหน่วยงานองค์กร/สาขาที่ได้รับรางวัล ได้แก่ บริษัท สินไซโมเดล จำกัด วิสาหกิจเพื่อสังคม ด้านภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ประเภทหน่วยงานองค์กร/สาขาที่ได้รับรางวัล ได้แก่ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาภูมิการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ประเภทหน่วยงานองค์กร/สาขาที่ได้รับรางวัล ได้แก่ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ : หลาดใต้โหนด และสาขาภูมิพลังวัฒนธรรม ประเภทหน่วยงานองค์กร/สาขาที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ทีม ช.ชราภาพ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 

 

ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ