23 พ.ย.65 - รองประธาน กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นฯ ชี้แจงเหตุสภาองค์ประชุมไม่ครบ อาจเกิดจากความเข้าใจผิดเรื่องการนับคะแนน ยืนยันประธานในที่ประชุมวินิจฉัยถูกต้องแล้ว มั่นใจเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การยุบสภา

image

        นายชินวรณ์  บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ....  คนที่สอง และนายอรรถกร  ศิริลัทธยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และเลขานุการกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... ซึ่งเป็นร่างที่อนุวัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 254 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เสนอกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติ พ.ศ. .... ซึ่งผ่านการพิจารณาแล้ว และร่าง พ.ร.บ. เข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ ว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นการอนุวัติให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ เพียงแต่ประชาชนเข้าชื่อกันก็สามารถเสนอถอดถอนได้ แต่ยังมีแนวความคิดของ กมธ. เสียงข้างน้อย ซึ่งยึดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ต้องมีการลงมติก่อนจึงจะถอดถอนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่สามารถที่จะถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ ประกอบกับร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่ตนและ ครม.เสนอนั้น กระบวนการถอดถอน ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมีความประพฤติเสียหายร้ายแรง หรือมีเหตุการณ์ส่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือปฏิบัติหน้าที่บกพร่องแต่ไม่เท่ากฎหมายอื่น ๆ ดังนั้น จึงต้องให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิถอดถอนได้ เพียงแต่เข้าชื่อกันให้มีจำนวนมากตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามหลักทั่วไป คือ ต้องมากกว่าคะแนนที่ได้รับการเลือกตั้ง

        นายชินวรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กมธ. เสียงข้างมากยึดหลักที่ถูกต้องแล้ว และเป็นหลักที่คุ้มครองทั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่สำคัญ คือ ทั้งรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องการคุ้มครองประชาชนว่า ในอนาคตหากผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องสามารถตรวจสอบและถอดถอนได้ ตั้งแต่สมาชิกสภาท้องถิ่นจนถึงผู้บริหารระดับประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสากลที่ คณะ กมธ. ได้ยึดถือ แต่ก็มีคณะ กมธ. เสียงข้างน้อยที่ยึดหลักการเดิม คือ ต้องทำในทางลับ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะสังคมยุคปัจจุบันควรเปิดให้ลงชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เพื่อความโปร่งใส ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 ที่จะลงมตินั้น คณะ กมธ. เสียงข้างมากเห็นด้วย แต่ผลปรากฏว่า มีการลงมติที่มีการถามในเรื่องของการที่มีคณะ กมธ.เสียงข้างน้อยขอแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งคณะ กมธ.เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย ดังนั้น นายชวน  หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม จึงจำเป็นต้องถามว่า ใครเห็นด้วยกับคณะ กมธ. เสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการลงคะแนน ดังนั้น การที่ประธานในที่ประชุม ได้ดำเนินการให้มีการลงคะแนนใหม่ ถือเป็นอำนาจของประธานในที่ประชุมตามข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 9 หากเห็นว่ามีการลงคะแนนเริ่มจากความเข้าใจผิดพลาดจากการตั้งประเด็นญัตติ ประธานในที่ประชุม สามารถเสนอให้มีการนับคะแนนได้ ดังนั้น การสั่งให้นับคะแนนและให้ลงมติว่าควรจะนับคะแนนใหม่หรือไม่ ตนขอยืนยันว่าประธานในที่ประชุมวินิจฉัยถูกต้อง และไม่เคยมีมาก่อนในสมัยประชุมที่ผ่านมา เพิ่งเกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้เท่านั้น ดังนั้น การกล่าวหาว่าประธานไม่ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมฯ หรือเป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่เสียงข้างมากลากไป นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะประธานย้ำแล้วว่าดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมฯ ตามหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน ผลของการลงคะแนนออกมาชัดเจนว่า เสียงข้างมากเห็นด้วยกับที่ประธานวินิจฉัย แต่เมื่อมาถึงการลงมติในมาตรา 9/1 สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่แสดงตนในที่ประชุม จึงทำให้ไม่ครบองค์ประชุม ดังนั้น ตนในฐานะ ส.ส. ขอเรียกร้องให้สมาชิกทุกคนเข้าร่วมประชุม เพราะเสียงข้างมากมีความจำเป็น

        นายชินวรณ์ กล่าวถึงประเด็นที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการยุบสภา ว่า ส่วนตัวเห็นว่าเหตุการณ์วันนี้ (23 พ.ย.65) ยังไม่เป็นเหตุและปัจจัยสำคัญที่จะเรียกร้องให้มีการยุบสภา เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายของ ส.ส. ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือคณะรัฐบาล จึงไม่เป็นเหตุผลที่จะนำไปสู่การยุบสภาได้

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ