10 เม.ย. 67 - ศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมทางวิชาการประจำปี เนื่องในโอกาส 26 ปีแห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ แลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญกับหน่วยงานต่างประเทศ มุ่งยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานศาลรัฐธรรมนูญไทยสู่มาตรฐานสากล

image

            ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน การประชุมทางวิชาการประจำปีเนื่องในโอกาส 26 ปีแห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นในหัวข้อ ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีนายสุทธิรักษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวรายงาน และมีภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมการประชุม อาทิ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศจอร์เจีย บุคลากรของศาลรัฐธรรมนูญ จัดขึ้น ณ ห้องอัศวินแกรนด์ B-C ชั้น 4 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
            โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาพิเศษช่วงหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลากว่า 26 ปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พุทธศักราช 2541 อันเป็นวันที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดแรก ซึ่งถือเป็นวันที่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีสถานะเป็นองค์กรตุลาการที่ได้รับการสถาปนาขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา ซึ่งมีรากฐานมาจาก “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ”  เพื่อทำหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อันเป็นภารกิจหลักที่สำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการพิทักษ์รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ควบคุมมิให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และวินิจฉัยชี้ขาดกรณีมีปัญหาที่จะต้องตีความรัฐธรรมนูญ หรือปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการพิจารณาวินิจฉัยคดีที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้มอบหมายภารกิจใหม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยหากประชาชนหรือชุมชนได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ  หรือล่าช้าเกินสมควร สามารถยื่นเรื่องผ่านหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่นั้น แต่หากยื่นเรื่องแล้วหน่วยงานของรัฐยังไม่ดำเนินการ สามารถยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อดำเนินการส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี หากผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นประการใดแล้ว ประชาชนหรือชุมชนเห็นว่ายังไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหน้าที่ของรัฐก็สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้  ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่รัฐธรรมนูญต้องการให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านต่าง ๆ ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามหน้าที่ของรัฐในเบื้องต้นให้กับประชาชนหรือชุมชน ตามขั้นตอนของกลไกปกติก่อนที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ อันแสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญยังได้ขยายขอบเขตการใช้สิทธิของประชาชนในการยื่นคำร้องหรือฟ้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้  หรือที่เรียกว่า คดีร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญ จากเดิมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 บัญญัติไว้เฉพาะกรณีการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังรวมไปถึงกรณีการกระทำละเมิดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง  ทั้งนี้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญยังคงยืนหยัดรักษาความชอบธรรม รวมทั้งพยายามที่จะสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญทางรัฐธรรมนูญเพื่อให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการหรือตรากฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชน ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญพยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล โดยพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย ผ่านช่องทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และในทุกประเภทคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีหรือผลคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องที่ยื่นไว้ อันเป็นไปตามปณิธานของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า ยึดหลักนิติธรรม ค้ำจุนประชาธิปไตย ห่วงใยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 
            สำหรับการประชุมทางวิชาการประจำปีเนื่องในโอกาส 26 ปีแห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางวิชาการกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ หวังนำไปสู่การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานในการพัฒนางานของศาลรัฐธรรมนูญสู่ระดับมาตรฐานสากลต่อไป โดยกิจกรรมภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และการอภิปรายร่วมกันในหัวข้อ ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในการนี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการอภิปรายดังกล่าวด้วย

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ