10 เม.ย. 67 - ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุชี้ชะตาพรรคก้าวไกลไม่ทันเดือน เม.ย.นี้ หลังพรรคขอขยายเวลาส่งคำแก้ข้อกล่าวหา  ยืนยันยินดีรับฟังคำวิจารณ์ แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ไม่เหยียดหยามองค์กรตุลาการ

image

            ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่หลายครั้งถูกสังคมและนักวิชาการวิพากษณ์วิจารณ์ โดยยอมรับว่า การถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่วิจารณ์แล้วทำให้บ้านเมืองสงบ และเป็นที่ยอมรับ บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องจำเป็น และตนเอง ก็ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นอย่างเต็มที่ แต่จะต้องเป็นไปโดยสุจริต และไม่เป็นการดูถูกเหยียดหยามองค์กรตุลาการ อย่าใช้คำหยาบคาย เพราะจะมีโทษตามกฎหมาย ส่วนหลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยคดีสำคัญทางการเมือง ซึ่งจะมีแรงกระแทกจากสังคมกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญนั้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ และอีกมุมหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ หากพรรคการเมืองสามารถตกลงเจรจากันได้ในสภา คดีก็จะไม่มาถึงศาล แต่เมื่อสภาตัดสินใจยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแสดงให้เห็นว่าศาลเป็นที่พึ่ง ซึ่งศาลพร้อมรับฟังข้อโต้แย้งของทั้ง 2 ฝ่าย และพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้วจึงตัดสินใจ พร้อมยืนยันว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีธงในการตัดสินและวินิจฉัยคดี มีเพียงชี้ขาดได้แค่ซ้ายกับขวา และขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น แตกต่างจากการเขียนคำตอบเชิงวิชาการ ที่คำตอบสามารถออกมาได้หลายมุม จึงทำให้สังคมมองว่า ศาลมีธงทั้งที่ตุลาการก็มีการถกเถียงกันมากพอสมควร
            ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลขอยื่นขยายเวลาการส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคำร้องยุบพรรค เนื่องจากข้อกล่าวหาการล้มล้างการปกครอง ว่า ในวันที่ 17 เม.ย. นี้ ในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะนำวาระเข้าพิจารณา โดยอยู่ที่ดุลพินิจของตุลาการ เบื้องต้นอนุมัติให้ขยายเวลา 15 วัน และอาจจะขยายได้อีกตามเหตุสมควร พร้อมรับฟังผู้ขอ จะต้องชี้แจงเหตุผล หรือหากจะยื่นพยานหลักฐาน ก็ทำได้เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณา ส่วนกระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ยังไม่เกิดขึ้นภายในเดือน เม.ย.นี้ เพราะการขอขยายเวลาจากพรรคก้าวไกลตามกรอบเลยเดือน เม.ย. จึงยังไม่ทราบว่าจะมีการไต่สวนหรือไม่ นอกจากนี้ในการประชุมครั้งถัดไป จะมีการพิจารณากรณีรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่ของรัฐสภาเกี่ยวกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญว่าจะต้องทำกี่ครั้งด้วย

 

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ