26 พ.ค. 67 – ประธาน กมธ.การเศรษฐกิจฯ วุฒิสภา มองจีดีพีไทยไตรมาสแรก ปี 67 เติบโตเกินคาด ชี้การท่องเที่ยวช่วยหนุน เชื่อมีศักยภาพแข่งขัน ขอภาครัฐศึกษาความต้องการของตลาดโลกเพื่อตอบสนองตรงจุด หนุนลดต้นทุนการผลิตเพิ่มความสามารถแข่งขัน

image

           นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา กล่าวในรายการทันข่าววุฒิสภา ถึงภาพรวมการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกของปี 67 ภายหลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) หรือ จีดีพี ในไตรมาสแรกของปี 67 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 จากการบริโภคของภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ว่าจากตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่เติบโตเกินการคาดการณ์ของตนเอง เนื่องจากก่อนการเปิดเผยตัวเลขของสภาพัฒน์ ที่ประชุมคณะกมธ.เศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ได้เชิญ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เข้าหารือภาพรวมของเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้รับการชี้แจงว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 66 มีค่าจีดีพีภาคอุตสาหกรรมติดลบร้อยละ 5 ดังนั้นตัวเลขจากสภาพัฒน์ที่ออกมาเป็นร้อยละ 1.5 จึงเหนือความคาดหมาย ทั้งนี้จากตัวเลขดังกล่าว เมื่อศึกษารายละเอียดแล้ว พบว่าภาคบริการภายในประเทศส่วนใหญ่นั้นมีค่าเป็นบวก โดยปัจจัยหลักมาจากภาคการท่องเที่ยว ประกอบด้วย โรงแรมที่พัก ภัตตาคาร การขนส่ง ซึ่งมีการขยายตัวกว่าร้อยละ 20 ส่วนที่ติดลบ ได้แก่ ภาคบริการด้านการก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างภาครัฐซึ่งติดลบร้อยละ 27 เป็นผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณไปพลางก่อนของรัฐบาลในไตรมาสแรก

           นายสมชาย ตอบข้อถามเมื่อเปรียบเทียบการเติบโตของจีดีพีไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด ว่าอันดับของประเทศไทยไม่ได้อยู่ท้ายสุด แต่เป็นไปตามโครงสร้างของเศรษฐกิจในประเทศซึ่งแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้กรณีที่การใช้จ่ายภาครัฐติดลบเป็นเพราะงบประมาณยังไม่ถูกกระจายไปใช้จ่ายในไตรมาสแรก เนื่องจากการจัดทำงบประมาณล่าช้าจึงต้องมีการใช้งบประมาณของปี 66 ไปพลางก่อน ตนเองเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยว่าสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ส่วนการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน รัฐบาลต้องมองให้ลึกถึงความต้องการของตลาดโลกว่าต้องการสินค้าชนิดใด และประเทศไทยผลิตสินค้าเหล่านั้นหรือไม่ หรือหากตลาดโลกยังต้องการสินค้าเดิมที่ไทยผลิตอยู่ แต่ไทยขาดศักยภาพในการแข่งขัน รัฐบาลจำเป็นจะต้องดูเรื่องต้นทุนการผลิตว่าสูงเกินไปหรือไม่ ทั้งนี้หากต้นทุนการผลิตสูงเกินไปจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ และเพื่อความเติบโตของจีดีพีภายในประเทศต่อไป

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง

ขอบคุณข้อมูลและภาพ จากเพจเฟซบุ๊กวุฒิสภา 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ