นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SME) โรงงานผลิตนม ในโครงการอาหารเสริม นมโรงเรียน แถลงข่าวถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการฯ โดยนางพัชรี วัฒนวิชัยกุล ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการฯ กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานผลิตนม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก้ไขและเปลี่ยนแปลงระเบียบหลักเกณฑ์ โครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน ที่ออกมาในปี พ.ศ. 2567 - 2568 จากเดิมที่กำหนดให้ภาคเอกชน ได้รับจัดสรรสิทธิ 50% และสหกรณ์โคนมได้รับจัดสรร 50% เท่ากัน มองว่ามีความไม่ยุติธรรม เนื่องจากโรงงานผลิตนมเอกชน มีจำนวนโรงงานมากกว่าสหกรณ์โคนม ถึง 3 เท่า ขณะที่การจัดสรรสิทธินมโรงเรียน โดยนำองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มามัดรวมกับภาคเอกชน มองว่าไม่ถูกต้อง และขอให้คุ้มครองโรงงานผลิตนมขนาดเล็ก ที่มีกำลังผลิต ไม่เกิน 5 ตัน โดยหากโรงงานใด ที่สมัครร่วมโครงการอาหารเสริม นมโรงเียนไม่เกิน 5 ตัน ให้จัดสิทธิเพื่อป้องกัน การหาซื้อนมดิบจนเกินสิทธิที่ได้รับการจัดสรร เพื่อแก้ปัญหานมล้น อย่างไรก็ตามปัจจุบัน พบว่าทุกโรงงานซื้อนมตุนไว้จำนวนมาก และเมื่อจัดสรรสิทธิได้น้อย ทำให้มีนมเหลือ และต้องขายขาดทุน หรือเททิ้ง ดังนั้นการคุ้มครอง สิทธิการผลิตไม่เกิน 5 ตัน จะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหานมดิบของเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้จากหลักเกณฑ์โรงงานนมทุกแห่ง ต้องมีศูนย์นมเป็นของตัวเองและต้องมีนมไม่น้อยกว่า 3 ตัน หรือมีวัวไม่ต่ำกว่า 200 ตัว ถือเป็นการกีดกัน SME ซึ่งไม่มีศูนย์นมเป็นของตัวเอง จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ส่งผลให้หลายโรงงานไม่สามารถเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม นมโรงเรียนได้ ในปี พ.ส. 2567 -2568 จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของโรงงาน โดยภาครัฐต้องมีแนวทางแก้ไข เพื่อให้โรงงานขนาดเล็ก สามารถอยู่ในระบบโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนต่อไปได้
ด้านนายศิรสิทธิ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่าจะนำประเด็นปัญหาดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม กมธ. พร้อมกับ ประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง