นางสาวศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงความท้าทายในการขับเคลื่อนไปสู่รัฐสภาสีเขียวที่มีเป้าหมายเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2575 ว่า ความท้าทาย คือ จะสื่อสารอย่างไรกับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการภายในอาคารรัฐสภาในการขอความร่วมมือต่าง ๆ ให้เข้าใจว่ารัฐสภากำลังขับเคลื่อนสู่การเป็น “รัฐสภาสีเขียว” ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง เช่น ปัจจุบันรัฐสภายังมีสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างค่อนข้างจำกัด ทั้งตู้กดน้ำดื่มในการสนับสนุนให้บุคลากรใช้ขวดซ้ำ ซึ่งอาจจะต้องมีการกระจายจุดติดตั้งตู้กดน้ำดื่มให้ทั่วถึง ขณะที่เรื่องการแยกขยะ มีถังขยะแยกเฉพาะหน้าห้องน้ำ เมื่อบุคคลภายนอกเข้ามาในอาคารรัฐสภาก็อาจจะทิ้งในถังขยะรวม และเมื่อนำไปแยกที่ปลายทาง ขยะก็เกิดการปนเปื้อน ยากที่จะนำไปรีไซเคิล พร้อมมองว่ารัฐสภาควรคำนึงถึงเรื่อง “การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว” ที่จะต้องคัดสรรเฉพาะสินค้าที่ได้ฉลากสีเขียว ”การประชุมสีเขียว“ ที่ต้องเลือกเน้นเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เรื่องจำนวนซัพพลายเออร์ที่จะจัดหาบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหล่านี้มาค่อนข้างจำกัด ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายว่ารัฐสภาจะทำอย่างไรให้นำไปสู่เป้าหมายได้ ภายใต้งบประมาณที่จำกัดและเกิดความคุ้มค่า
นอกจากนี้ นางสาวศนิวาร ยังให้ความเห็นถึงกรณีที่รัฐสภาเตรียมใช้งบประมาณ 150 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารรัฐสภาเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่สระมรกต ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางภายในอาคารรัฐสภาเปลี่ยนเป็นห้องสมุด และ Co-working Space ให้ประชาชนได้ใช้บริการ ว่าการปรับปรุงดังกล่าวจะขัดกับจุดประสงค์ของการสร้างสระมรกตที่ถูกออกแบบมาให้มีความเย็นและลดการใช้พลังงานในอาคารรัฐสภาหรือไม่นั้น โดยมองว่า ค่อนข้างกังวล เนื่องจากรัฐสภาถูกออกแบบมาเพื่อให้ระบายอากาศ อีกทั้งรัฐสภาตั้งเป้าจะลดการใช้พลังงาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ที่ต้องอาศัยอากาศจากภายนอกเข้ามา ซึ่งสิ่งที่จะทำให้อาคารรัฐสภาเย็นได้ หลัก ๆ คือ น้ำและพื้นที่สีเขียว ดังนั้น หากจะถมสระมรกตเพื่อเปลี่ยนเป็นห้องสมุดก็จะทำให้พื้นที่น้ำตรงนั้นหายไป ซึ่งจะมีโอกาสทำให้อุณหภูมิของตัวอาคารรัฐสภาเพิ่มขึ้นได้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาและศึกษาในรายละเอียดให้รอบคอบ พร้อมย้ำว่าส่วนตัวเห็นด้วยที่จะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของอาคารรัฐสภาได้ง่ายขึ้น เพียงแต่ต้องคำนึงถึงต้นทุนที่เสียไปกับผลประโยชน์ที่จะได้รับมา ว่ามีความคุ้มค่าในระยะยาวหรือไม่
ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง
แฟ้มภาพ
