9 พ.ค. 68 - สส.ชัชวาล พรรคไทยสร้างไทย จี้รัฐบาลเร่งฟื้นความเชื่อมั่นท่องเที่ยวไทย หลังพบสัญญาณอันตราย นักท่องเที่ยวต่างชาติลดน้อยลง ชี้ไทยเสี่ยงหลุดอันดับจุดหมายโลก แนะใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นกุญแจสร้างการท่องเที่ยวมีคุณภาพ ยั่งยืน

image

            นายชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสัญญาณอันตรายจากการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Google Trends และการวิเคราะห์ล่าสุดของ TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU) ที่พบว่าความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสแรกของปี 68 (ม.ค.-มี.ค. 68) ขณะที่จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้  อยู่ที่ 7.8 ล้านคน ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 8.5 ล้านคน ส่วนราคาที่พักในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ เริ่มปรับตัวลดลงเฉลี่ย 5-12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 67

           นายชัชวาล ชี้ว่า เบื้องหลังปัญหาไม่ได้มีแค่ภาวะเศรษฐกิจโลกและต้นทุนการเดินทาง แต่ยังรวมถึงการแข่งขันที่ดุเดือดจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ที่มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ราคาย่อมเยา และมีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวชัดเจนกว่าประเทศไทย นอกจากนี้ การท่องเที่ยวไทยยังคงเจอปัญหาเดิม ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความแออัด และการขาดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจน จึงต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ฟื้นความเชื่อมั่น และพัฒนาประสบการณ์ท่องเที่ยวให้สูงกว่าความคาดหวัง

            นายชัชวาล เสนอว่าประเทศไทยควรดึงศักยภาพที่มีอยู่แล้วทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ยังซ่อนเร้นอยู่ วัฒนธรรมพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์ และสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ มาพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเน้นว่า ประเทศไทยต้องกลับมาเป็นคำตอบแรกในใจของโลกอีกครั้ง ไม่ใช่แค่เรียกนักท่องเที่ยวให้กลับมา แต่ต้องยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวทั้งระบบ หากไม่เร่งดำเนินการอย่างจริงจัง ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียสถานะ จุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของโลก ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเป็นความเสียหายที่ยากจะแก้ไขในระยะยาว นอกจากนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในท้องถิ่นและภาคเอกชนควรถูกส่งเสริมให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและการบริการที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประสบการณ์เฉพาะถิ่น การยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม หรือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการมีส่วนร่วมของชุมชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนและลดการกระจุกตัวของรายได้ให้กระจายสู่แต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึง

 

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ