8 พ.ค. 68 - ประธาน กมธ.สวัสดิการสังคม รับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนแรงงานกว่า 500 คน ไม่ได้รับค่าจ้าง 9.5 ล้านบาท จากการก่อสร้างอาคาร สตง. หลังเรียกร้องตั้งแต่ต้นปี 67 ยังไร้คำตอบ ตรียมผลักดันเรื่องถึงรมว.แรงงาน 

image

            นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจาก นายฐิติพงศ์ โพธิพรหม หรือ ช่างเบิร์ด ตัวแทนผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีไม่ได้รับค่าจ้างหรือเงินค่าตอบแทนจำนวน 9.5 ล้านบาท จากการก่อสร้างโครงการอาคารสตง. ในส่วนของช่างไฟฟ้าซึ่งมีแรงงานกว่า 500 คน ซึ่งนายฐิติพงศ์ ได้เคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี 67 ทวงถาม และส่งหนังสือไปถึงหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทผู้รับเหมา แต่กลับได้รับการชี้แจงมาว่าต้องรอกระบวนการหารือร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อจัดสรรจำนวนเงินก่อนจ่ายให้กับแรงงาน และล่าสุดเมื่อสอบถามไปยัง สตง. กลับได้รับคำตอบว่ามีการจ่ายเงินค่าแรงมาแล้ว จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดเงินจึงยังไม่ถึงมือพี่น้องแรงงาน ซึ่งปัจจุบันแรงงานดังกล่าวกว่า 500 คน ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ต้องนำทรัพย์สินที่มีอยู่ไปจำนองเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายเป็นค่าครองชีพ อีกทั้งในการเดินทางไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ แต่ละครั้งก็ต้องมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายจำนวนมากเช่นเดียวกัน จึงขอให้คณะกมธ. ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทผู้รับเหมา และหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว เพื่อเร่งคืนความเป็นธรรมให้กับแรงงานทุกคนตามสัญญาให้ได้รับค่าตอบแทนอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยนายฐิติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ได้เรียกร้องเพื่อตนเองแต่เพื่อพี่น้องแรงงานทุกคนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมขอฝากข้อความถึง สตง. ว่าชีวิตแรงงานกว่า 100 ชีวิตที่ต้องสูญเสียจากเหตุการณ์ตึกถล่มในครั้งนี้ เหมือนเป็นการเสียชีวิตแทนเจ้าหน้าที่ สตง. ทุกคน จึงขอให้เข้าใจความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสีย และครอบครัวผู้ใช้แรงงานทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วย

           ด้านนายณัฐชา กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนผึ้งแตกรัง เพราะผู้รับเหมาช่วง ที่รับงานต่อมาจากผู้รับเหมาหลัก มีจำนวนมากและหลายบริษัท และเมื่อเกิดเหตุการณ์ตึกถล่มขึ้น งานก่อสร้างที่อยู่ในตัวอาคารได้เสียหายไปแล้วนั้น ไม่สามารถจะประเมินได้แน่ชัดว่าแรงงานคนใดทำงานถึงขั้นไหน ทำให้ทุกบริษัทต่างพยายามเอาตัวรอด แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ใช้แรงงานที่มายื่นหนังสือในครั้งนี้ไม่ใช่ผู้รับเหมาช่วง แต่เป็นแรงงานรายวัน เมื่อทำงานไปแล้ว ลงแรงไปแล้ว ควรที่จะได้รับค่าตอบแทน ส่วนเรื่องของบริษัทจะได้กำไรหรือขาดทุน หรือจัดการกับต้นทุนอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของบริษัทเอง อย่างไรก็ตามคณะกมธ. จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาโดยเร่งด่วน พร้อมจะเร่งทำหนังสือไปถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้รับทราบเรื่องดังกล่าวและขอให้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปนอกจากนี้ยังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า หน่วยงานหลักที่ควรเข้ามาบริหารจัดการเรื่องการจ่ายค่าแรงให้แก่พี่น้องแรงงานนั้นควรเป็น สตง. ไม่ใช่การปล่อยให้บริษัทรับเหมาซึ่งมีอยู่จำนวนมากจัดการกันเอง

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ