14 พ.ค.68 - กมธ.การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเวทีสัมมนาสร้างความเข้าใจ และรับข้อเสนอแนะจากกลุ่มไรเดอร์แรงงานแพลตฟอร์มดิจิทัล ต่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …. สร้างการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง นำเสนอกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมภาคแรงงาน สอดคล้องระบบเศรษฐกิจใหม่

image

    นายสหัสวัต คุ้มคง โฆษกกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดงานสัมมนา เรื่องการเจรจาทางสังคม : ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …. กับการจ้างงานในแพลตฟอร์ม ซึ่งคณะกรรมาธิการการแรงงาน ร่วมกับสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม จัดขึ้นที่ห้องประชุม B1-5 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา พร้อมกล่าวต่อผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย แรงงานและไรเดอร์ในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ  นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจ้างงานในระบบแพลตฟอร์มและมาตรฐานการคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนสหภาพแรงงาน ผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ว่าการจัดสัมมนาครั้งนี้ ต้องการให้กลุ่มแรงงานและไรเดอร์ในระบบแพลตฟอร์มต่าง ๆ  และกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมสัมมนาได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในการทำงาน และข้อคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …. ให้สอดคล้องกับการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานที่ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระมากขึ้นตามลักษณะการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ คณะกรรมาธิการการแรงงาน ได้เปิดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาและเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. .... พร้อมทั้งเปรียบเทียบจุดแข็ง จุดอ่อน และข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ ข้อสังเกตจากนักวิชาการ ผศ.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และสนับสนุนการจ้างงานที่มีคุณค่าในอุตสาหกรรมแพลตฟอร์ม พร้อมเปิดเวทีรับฟังการเสนอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายฉัตรชัย พุ่มพวง ผู้แทนสหภาพคนทำงาน น.ส.เยาวภา ดอนเส ผู้แทนสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และนายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและแรงงาน และแรงงานแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์ ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับรับผลกระทบโดยตรงจากร่างกฎหมายนี้เมื่อมีผลบังคับใช้ การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจากคนทำงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำไปสู่การผลักดันการออกกฎหมายแรงงานให้มีความเป็นธรรม โปร่งใส และตอบโจทย์ความเป็นจริงของแรงงานในระบบเศรษฐกิจใหม่ และคณะกรรมาธิการจะจัดทำเอกสารข้อเสนอแนะจากความคิดเห็นของผู้ประกอบการไรเดอร์ต่อ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


ณรารัฏฐ์ โพธินาม / ข่าว เรียบเรียง
 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ