นางสาวชุติมา คชพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์รายการ "สภาปริทัศน์" ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา ถึง “สถานการณ์ราคายางพาราไทยตกต่ำ และแนวทางการพัฒนายางพาราไทยสู่ตลาดโลก” ว่า ตามที่ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “อนาคตใหม่ยางพาราไทยก้าวไกลสู่การนำในตลาดโลก” เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.68 ณ โรงแรมตะมาลี ต.นาสาร อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นอย่างดี โดยผลของการสัมมนาเกษตรกรชาวสวนยางและชาวสวนปาล์ม ได้สะท้อนปัญหาที่ทำให้ราคายางพาราไทยตกต่ำและไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยหลายอย่าง เนื่องจากไทยยังต้องพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ และกลไกอุปสงค์อุปทานตามหลักเศรษฐศาสตร์ และด้วยสาเหตุที่ไทยไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง ประกอบกับคำสั่งซื้อที่ไม่แน่นอน ซึ่งมักต้องมีการซื้อขายล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากการผูกขาดโดยทุนใหญ่ มีทุนใหญ่ไม่กี่รายที่ได้เปรียบในวงการยางพารา
นางสาวชุติมา กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมยางพาราไทย ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกล้าหาญในการปฏิรูปโครงสร้างจริงจัง โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรเจรจาหาคู่ค้าและตลาดให้มากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ โดยส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราภายในประเทศ และต้องหันมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราและสร้างตราสินค้าของไทยให้แข็งแกร่ง แทนที่จะพึ่งพาราคาน้ำยางสดเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้มากขึ้น พร้อมเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้เติบโตเพื่อลดการผูกขาด ท้ายที่สุดในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราอันดับ 1 ของโลกและมีคุณภาพดีที่สุด รัฐบาลควรเป็นผู้นำในการกำหนดราคาในตลาดโลก ไม่ใช่ปล่อยให้ประเทศอื่นนำอยู่แบบนี้ ขณะที่โครงการของรัฐควรใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราเป็นส่วนผสม อย่างน้อย 5% เช่น พื้นยางในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน โรงพยาบาล หรือการใช้ยางพาราผสมถนน และหมอนรองรถไฟ เพื่อให้เกิดการบริโภคยางพาราในประเทศ
นางสาวชุติมา กล่าวถึงความคาดหวังต่อรัฐมนตรีพาณิชย์คนใหม่ ว่า ตนและเกษตรกรชาวสวนยางมีความคาดหวังสูงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ โดยหวังว่าจะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาตลาดสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นด้วยกับนโยบายประกันราคา โดยมองว่าเป็น "อุปทานหลอก" ที่ใช้เงินภาษีอุดหนุนและไม่ยั่งยืน ทำให้เกิดปัญหาซ้ำๆ ทุกปี แต่กระทรวงพาณิชย์ควรสร้าง "อุปทานที่แท้จริง" ในตลาดเพื่อให้เกิดความต้องการซื้อที่ยั่งยืน
รองประธาน กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวว่า กมธ. เตรียมจะลงพื้นที่และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เช่น กรณีราคา มังคุด ที่ตกต่ำอย่างรุนแรง เหลือเพียง 8 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับเกรดในประเทศ และ 10-13 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับเกรดส่งออก เป้าหมาย คือ ไม่เพียงแค่แก้ปัญหารายปี แต่ต้องมีนโยบายและการวางแผนสต็อก การระบายสินค้า และการคาดการณ์ตลาดที่แม่นยำสำหรับอนาคต ทุกภาคส่วนต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง