9 ก.ค. 68 - สภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วย ครม.ถอนร่าง กม. เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ด้าน "ฝ่ายค้าน" ถามเหตุผล พร้อมจี้รัฐบาลรับปากจะไม่เสนอเข้าสู่สภาฯ อีก 

image

          การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ออกจากวาระการประชุม
          นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลพิสูจน์เหตุผลในการถอนร่างกฎหมายในวันนี้ ว่าเป็นเพราะรัฐบาลเห็นแล้วว่าร่างกฎหมายมีปัญหา อยากจะถอนออกไปเพื่อจะนำไปศึกษาอย่างรอบคอบ ตามข้อทักท้วงของภาคประชาสังคม รวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ ก่อน ไม่ใช่ถอน เพียงเพราะรัฐบาลกลัวว่าวันนี้เสียงในสภาฯ ไม่เพียงพอ และจะถูกโหวตคว่ำ จึงอยากให้ตัวแทน ครม. ชี้แจงเหตุผล และเพื่อให้ฝ่ายค้านสบายใจว่ารัฐบาลมีความจริงใจว่าถอนเพราะเล็งเห็นถึงเหตุผลนั้นจริง ๆ ขอให้รับปากว่าถอนไปแล้ว จะไม่เสนอกลับมาอีก อย่างน้อยจนกว่าจะศึกษาอย่างดีเพียงพอ หากรับปากไม่ได้ก็จะให้พิสูจน์ ให้เดินหน้าถอนร่างด้วยเสียงของรัฐบาลเอง ฝ่ายค้านจะไม่ร่วมด้วย
          ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับที่ ครม. จะถอนร่างฉบับนี้ออกไป ซึ่งที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ขอฟังเหตุผล ตนก็อยากฟังเช่นเดียวกัน ซึ่งขอเสนอเป็นญัตติคัดค้านการถอนร่างกฎหมายนี้ของ ครม.
          นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงเหตุผลการถอนร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ออกจากวาระการประชุมว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก มีการปรับองค์ประกอบของ ครม. และพรรคร่วมรัฐบาลอย่างมีนัยยะสำคัญ มีรัฐมนตรีใหม่เกือบครึ่ง จะได้มีโอกาสทบทวนร่างกฎหมาย พิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง ประเด็นที่สอง ยอมรับว่าขณะนี้ยังมีความไม่เข้าใจในตัวบทกฎหมายรัฐบาล ซึ่งเจตนาของรัฐบาลจริง ๆ มีความประสงค์ดีอยากจะให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน การลงทุนขนาดใหญ่  เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงและที่สำคัญการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้าง (Man-made tourist destination) เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านการท่องเที่ยว เป็นเป้าหมายของรัฐบาลจริงๆ และเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่สังคมยังมีความเข้าใจที่หลากหลาย จึงต้องให้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ กลไกการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ทราบดีว่าสามารถดำเนินการได้ในหลายขั้นตอน รวมถึงขั้นตอนของสภาฯ เป็นสิทธิ์อันชอบธรรม หากกฎหมายใดก็ตามเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แล้วจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้รัดกุม มีความเหมาะสม ซึ่งจุดนี้ไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่รัฐบาลเห็นว่าร่างกฎหมายมีปัญหาหรือไม่ เพราะเชื่อมั่นในหลักการว่าเป็นประโยชน์กับสังคม และขณะนี้ต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยมีปัญหารุมเร้าหลายประการ ทั้งปัญหาชายแดนหรือปัญหาด้านเศรษฐกิจในระดับโลกที่มีเรื่องของสงครามการค้าต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลรับทราบและมองว่าการลดปัจจัยในเรื่องความขัดแย้งทางสังคมลง จะช่วยผ่อนเบาสถานการณ์ได้ดีขึ้น
          ส่วนจะให้ยืนยันว่าถอนร่างไปแล้วจะไม่เสนอกลับเข้ามาอีกนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ เพราะอำนาจที่ ครม. มอบให้มา คือ การถอนร่างกฎหมาย ตามจดหมายที่ได้ส่งมายังสภาฯ ชี้แจงเหตุผลมาอย่างครบถ้วน แต่คงทราบกันดีว่ากฎหมายลักษณะแบบนี้ใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน และหากสภาฯ มีความเห็นแตกต่างกัน ก็ยิ่งต้องใช้เวลานานเป็นเท่าตัว และด้วยเวลาที่จำกัดต้องดูว่าจะมีโอกาสดำเนินการให้แล้วเสร็จได้หรือไม่ เป็นเรื่องค่อนข้างยาก
          จากนั้นนายภราดร อภิปรายว่า การที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ถามเหตุผลและต้องการให้ยืนยันกับสภาฯ เป็นการยืนยันกับประชาชนว่าจะไม่นำร่างนี้กลับเข้าสภาฯ มาอีก แต่กลับตอบว่าตอบไม่ได้ ทำให้ตนไม่แน่ใจในท่าทีของ ครม. ต่อแนวทางดารสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่มีกาสิโนรวมอยู่ด้วย วันหนึ่งบอกจะเอาก็เร่งดันเข้าสู่สภาฯ ขึ้นมาเป็นวาระที่ 1 ซึ่งพรรคภูมิใจไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้น ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้ ซึ่งรัฐบาลก็บอกว่าเป็นพรรคภูมิใจขวาง ส่วนที่ประชาชนชุมนุมแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย รัฐบาลก็บอกว่าเป็นกลุ่มคนหน้าเดิม ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมานาน แต่พอมาวันที่รัฐบาลจะไม่เอา ก็มีเหตุผลอย่างที่นายจุลพันธ์ที่ได้ชี้แจงว่ามีปัญหาอื่นที่ประชาชนให้ความสนใจมากกว่า คือ ปัญหาชายแดนไทยกับกัมพูชา ซึ่งต้องขอถามว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร ทำไมจึงนำปัญหากาสิโนไปเกี่ยวพันกับกัมพูชา ซึ่งตนนึกขึ้นได้ถึงคลิปเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างนายกรัฐมนตรีและสมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ว่า เป็นเพราะการตกลงรับปากอะไรกันไว้หรือไม่ ส่วนที่บอกว่ามีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอีก 2 คน ซึ่งเป็นกระทรวงต้นเรื่องก็ยังอยู่เหมือนเดิม มีเพียงอย่างเดียวที่เปลี่ยน คือ ไม่มีรัฐมนตรี 8 คน ที่เป็นสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย ไม่มี สส. 69 เสียง ของพรรคภูมิใจไทย ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าเหตุผลของ ครม. ไม่มีประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการถอนร่างกฎหมายในครั้งนี้ เป็นเหตุผลทางการเมืองทั้งสิ้น
          นายจุลพันธ์ ชี้แจงต่อว่า ประเด็นแรกยืนยันว่าไม่มีการตกลงรับปากหรือดีลอะไรไว้กับกัมพูชา ในเรื่องของการทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์แน่นอน โดยการพูดคุยดังกล่าวไม่มีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นกับประเทศแม้แต่ประเด็นเดียว ส่วนการให้รัฐมนตรีใหม่ได้มีสิทธิ์ทบทวนร่างกฎหมาย เป็นเรื่องปกติ และสุดท้ายจะให้รับปากว่าจะไม่ยื่นเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาฯ อีกนั้น ที่ตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของ ครม. และแม้ร่างกฎหมายจะตกไป ก็ตกไปในสมัยประชุมสภาฯ นั้น ๆ สามารถเสนอมาใหม่ได้อีก และหากวันนี้จะตัดสินใจ โดยให้ลงมติกันก็ทำได้เลย ยืนยันเอาประชาชนเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งร่างกฎหมายนี้เสนอมานานหลายเดือน ขณะนั้นพรรคภูมิใจไทยก็ร่วมเสนอด้วยในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล และแม้พรรคภูมิใจไทยจะบอกว่าไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น ตนไม่ทราบ เพราะเมื่อให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนก็บอกว่าเห็นด้วยทุกครั้ง วันนี้มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล จะเปลี่ยนแนวความคิด ก็ยอมรับ แต่ไม่เข้าใจว่าวันนั้นบอกว่าสนับสนุน เพราะต้องการจะอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายแล้วมายกมือให้แบบนั้นหรือ หากไม่เห็นด้วยตั้งแต่วันนั้นก็ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลไปแล้ว
          ขณะที่นายณัฐพงษ์ อภิปรายเพิ่มเติมว่า จากเหตุผลที่นายจุลพนธ์ชี้แจงมานั้น ฝ่ายค้านอาจจะยังไม่สามารถยอมรับได้ ซึ่งนายจุลพันธ์อาจจะไม่สามารถตอบชี้แจงแทน ครม. ได้ แต่ทราบว่านายกรัฐมนตรีมาที่สภาฯ ดังนั้น แม้จะถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่สามารถเข้าร่วมประชุมสภาฯ ได้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เชื่อว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจ ให้นายกรัฐมนตรีมาตอบได้ และจากการตอบชี้แจงของนายจุลพันธ์ที่ไม่อาจจะยอมรับได้ จึงอยากจะให้เดินหน้าสู่การลงมติ เปิดโอกาสให้เพื่อนสมาชิกอภิปรายเหตุผลเพิ่มเติม จึงขอเสนอเป็นญัตติคัดค้าน ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 88
          ทั้งนี้ ประธานที่ประชุม ได้ขอผู้รับรองญัตติที่เสนอโดยนายณัฐพงษ์และนายภราดร โดยมีผู้รับรองถูกต้อง และตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 21 ระเบียบวาระที่ประธานได้บรรจุไว้แล้ว หากจะมีการถอนหรือแก้ไขต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุม เมื่อมีการเสนอและที่ประชุมยังมีผู้ไม่เห็นด้วยอยู่ ซึ่งต้องขอมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ ครม. ที่ให้ถอนร่างร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ปรากฏว่า สภาฯ ยินยอมให้ถอนร่างด้วยคะแนนเสียง 253 เสียง ไม่เห็นด้วย 67 เสียง

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ