8 ก.ค.68-รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เปิดโครงการสัมมนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุด หวังขยายฐานความร่วมมือระหว่างหอสมุดรัฐสภากับเครือข่ายห้องสมุด พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับเป็นศูนย์กลางความรู้ที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนงานรัฐสภา

image

        นายพิเชษฐ์   เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดเรื่อง "จุดประกายวิสัยทัศน์บรรณารักษ์ไทย : มุมมองใหม่ในโลกสารสนเทศยุคเปลี่ยนผ่าน" โดยมี นายณัฏฐกฤษฎ์ วงศ์เจริญ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรายงาน ทั้งนี้ ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วิทยากรจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมด้วยบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมพิธี ณ ห้องสัมมนา B1-2 อาคารรัฐสภา

        นายพิเชษฐ์  เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวเปิดโครงการสัมมนา โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่ง ว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่หอสมุดรัฐสภา ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติในระดับประเทศและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้บรรณารักษ์ไทยสามารถพัฒนาตนเอง รวมถึงเกิดความร่วมมือระหว่างหอสมุดรัฐสภากับเครือข่ายห้องสมุดต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคศตวรรษที่ 21 นั้น ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ การเข้าถึงข้อมูลแบบไร้พรมแดน หรือประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพทางปัญญา สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของผู้คน แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อโครงสร้างทางสังคมระบอบประชาธิปไตย และที่สำคัญคือกระบวนการนิติบัญญัติ โดยหอสมุดรัฐสภาในฐานะหน่วยงานสนับสนุนสถาบันนิติบัญญัติได้มีบทบาทสำคัญในการรวบรวม จัดระบบ และการให้บริการข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านและทันสมัยแก่สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ และประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากความร่วมมือในระดับนานาชาติ อาทิ การเข้าร่วมประชุมสหพันธ์สมาคมและสถาบันห้องสมุดนานาชาติ หรือ IFLA ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดโลกทัศน์ใหม่ของสารสนเทศและบทบาทบรรณารักษ์ในระดับสากล 

       ทรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน หอสมุดรัฐสภาไทย ไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้บริการข้อมูลภายในเท่านั้น แต่ทำหน้าที่เป็นผู้จุดประกายความคิดสู่เครือข่ายวิชาชีพบรรณารักษ์ทั่วประเทศ เพื่อขยายผลความรู้จากเวทีโลกสู่การปฏิบัติจริงในประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านสารสนเทศที่จะเป็นประโยชน์ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับวิชาชีพ และสุดท้ายคือระดับชาติ ทั้งนี้ ผู้นำโลกหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศก็เคยเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดมาก่อน คลุกคลีกับห้องสมุดและวิชาการ ทำให้มีความรอบรู้ที่จะบริหารประเทศ ห้องสมุดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็นความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ จะเห็นได้ว่า ประเทศที่เจริญแล้ว ประชาชนจะสามารถเข้าถึงห้องสมุดได้ง่าย ตัวอย่างเช่น รัฐสภาของประเทศเกาหลีใต้ที่มีอาคารห้องสมุดรัฐสภา และยังมีห้องสมุดรัฐสภาในต่างจังหวัดด้วย ทำให้ประชาชนเข้าถึงเข้ามูลได้ตลอดเวลา สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่รวดเร็วของประเทศเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ ที่มีห้องสมุดอายุหลายร้อยปีและรวบรวมองค์ความรู้ไว้อย่างมากมาย ดังนั้น หอสมุดรัฐสภาจึงต้องขยายเครือข่ายให้เชื่อมโยงกับห้องสมุดประชาชนแห่งอื่น ๆ ด้วย สำหรับห้องสมุดของฝ่ายนิติบัญญัติจะโดดเด่นเรื่องของกฎหมายที่มีอยู่ทุกฉบับ หากฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และมหาวิทยาลัย สามารถสืบค้นได้อย่างทั่วถึงและเชื่อมโยงกันก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ดังนั้น ตนจึงขอให้กำลังใจหอสมุดรัฐสภาและขอให้พัฒนาเครือข่ายฐานข้อมูลให้เชื่อมโยงกันเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ก็จะทำให้สามารถค้นหาและทำการวิจัยได้ผลสำเร็จ และทำให้หอสมุดรัฐสภาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง 

        จากนั้น เป็นการบรรยายเรื่อง อนาคตของวิชาชีพบรรณารักษ์ในยุค AI (The Future of Librarianship in the AI Era) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดย นายอดิศักดิ์ สุกุล อาจารย์ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัย Lowa State ประเทศสหรัฐอเมริกา

        สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อจุดประกายวิสัยทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจให้บรรณารักษ์ไทยสามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล ขยายฐานความร่วมมือระหว่างหอสมุดรัฐสภากับเครือข่ายห้องสมุด สร้างการเข้าถึงแหล่งข้อมูลเฉพาะทางที่สนับสนุนการพิจารณากฎหมาย พัฒนากลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสารสนเทศแก่สมาชิกรัฐสภา และยกระดับภาพลักษณ์ของหอสมุดรัฐสภาในฐานะศูนย์กลางความรู้ที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนงานรัฐสภา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย บรรณารักษ์และนักสารสนเทศจากเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดและห้องสมุดประเภทต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดเฉพาะ ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดมหาวิทยาลัย และห้องสมุดโรงเรียน ตลอดจนบุคลากรสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

 

ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง

สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ