4 มี.ค.66 – อนุ กมธ. ด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน วุฒิสภา หารือแนวทางกำหนดมาตรฐานการเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกาย ตามหลักการยศาสตร์การปฏิบัติงานด้วยแรงกายฯ หวังยกระดับกระบวนการผลิตของเอกชนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เตรียมเพิ่มข้อกำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 เพื่อให้เกิดสภาพบังคับต่อไป

image

        พลเรือเอกพัลลภ  ตมิศานนท์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในคณะ กมธ.การแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม อนุ กมธ. โดยมีวาระพิจารณาศึกษา เรื่อง มาตรฐานการเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกาย ตามหลักการยศาสตร์การปฏิบัติงานด้วยแรงกาย การยก การวาง และการขนย้าย ตามมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้าร่วมประชุม

        นายวีระศักดิ์  เพ้งหลัง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานแห่งชาติและคณะ กล่าวชี้แจงว่า สมอ. เกิดขึ้นมาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เป็นผู้แทนประเทศไทยในการเป็นสมาชิกขององค์กร International Organization for Standardization (ISO) เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และองค์การการค้าโลก (WTO) ก็สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกถือปฏิบัติตามมาตรฐานของ ISO ทั้งนี้ องค์กรที่เป็นสมาชิกของ ISO มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลมาตรฐานสากลที่ถูกกำหนดขึ้นโดย ISO ทั้งหมด และเลือกนำมาปรับใช้ (Adopt) กำหนดเป็นมาตรฐานภายในประเทศ แต่สมาชิกของ ISO ก็มีหน้าที่ต้องรักษาลิขสิทธิ์ของมาตรฐานแต่ละประเภทที่ ISO กำหนดขึ้นด้วย ซึ่งมาตรฐานสากลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และระบบการผลิตสินค้า มี 2 ลักษณะ คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ซึ่งมุ่งเน้นการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นหลัก และมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ.2551 ซึ่งมุ่งเน้นรับรองคุณภาพของระบบการผลิตเป็นสำคัญ

        พลเรือเอกพัลลภ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานการเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกาย ตามหลักการยศาสตร์การปฏิบัติงานด้วยแรงกาย การยก การวาง และการขนย้าย ตามมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ นั้น ไม่ได้เป็นการบังคับเอกชน แต่หากเอกชนผู้ประกอบกิจการได้รับรองตามมาตรฐานดังกล่าว เท่ากับว่ากระบวนการผลิตของเอกชนรายนั้นมีความเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งมีคุณค่าต่อการยอมรับนับถือในเชิงพาณิชย์และการอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้มีสภาพบังคับ ภาครัฐก็อาจนำหลักการของมาตรฐานดังกล่าวไปกำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ต่อไป

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

คณะอนุกรรมาธิการ ด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน วุฒิสภา  ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ