30 พ.ย. 65 - ส.ว.กิตติศักดิ์ มอง ร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ฉบับที่ นายธนาธร และภาคประชาชน เสนอแก้หมวดท้องถิ่น ชี้เปรียบเสมือนต้นไม้-ผลไม้พิษ พร้อมระบุ การให้ท้องถิ่นมีอำนาจเบ็ดเสร็จจัดการตัวเอง อาจส่งผลกระทบให้รัฐบาลส่วนกลาง ไม่สามารถบริหารประเทศ ได้ 

image

   นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 มาตรา 249 มาตรา 250 มาตรา 251 มาตรา 252 มาตรา 253 มาตรา 254 เพิ่มมาตรา 254/1 มาตรา 254/2 มาตรา 254/3 มาตรา 254/4 มาตรา 254/5 และมาตรา 254/6) ซึ่ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 76,581 คน เป็นผู้เสนอ โดยกล่าวว่า ตนเห็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดท้องถิ่น ซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้และผลไม้ที่เป็นพิษ เนื่องจากมีรายละเอียด ว่า หากร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ในหมวดท้องถิ่น ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จะทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตนเห็น ปัจจุบัน ผู้บริหารท้องถิ่นก็มาจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว ขณะเดียวกันในร่างฯ ฉบับนี้ ยังได้ระบุทิ้งท้ายว่า ราชการส่วนใหญ่สังกัดท้องถิ่น โดยตนเห็นว่า ในอนาคต ในส่วนราชการท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาจเต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ และผู้ที่มีเบื้องหลังในการประกอบอาชีพผิดกฎหมาย หรือลักษณะสีเทา เข้ามายึดครองในส่วนราชการท้องถิ่นทั่วประเทศ และที่สำคัญ หากร่างฯ ฉบับนี้ ผ่าน อาจทำให้นักการเมืองเข้าไปยึดครองและควบคุมการทำงานของส่วนราชการท้องถิ่น โดยที่หน่วยงานราชการส่วนกลาง ไม่สามารถทำอะไรได้ ส่งผลกระทบตามมาให้ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาทำงานก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ เพราะว่าแต่ละท้องถิ่นมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการตัวเอง 

 

   ส.ว.กิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ 100% ซึ่งปัจจุบันก็มีกฎหมายการกระจายอำนาจอยู่แล้ว หากจะแก้ไขในส่วนนี้ ก็ให้ไปพิจารณาจากส่วนนี้เท่านั้น แต่ไม่ใช่การมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอาจส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนตามมาได้ ส่วนการจัดสรรงบประมาณประจำปี ต้องจัดสรรให้กับท้องถิ่นในอัตรา 50 ต่อ 50 ตนมองว่า จะเอางบประมาณมาจากส่วนไหน ในเมื่อท้องถิ่นมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการตัวเอง โดยที่รัฐบาลส่วนกลางไม่สามารถจัดเก็บรายได้ซึ่งเป็นเงินภาษีจากแต่ละท้องถิ่นได้ และสุดท้าย ที่ร่างฯ ฉบับนี้ ระบุว่า ภายใน 5 ปี คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง พร้อมทำประชามติสอบถามความคิดเห็นของประชาชน เพื่อยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค อาจทำให้ ในอนาคต ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องไปทำความเคารพและขอรับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จาก นายก อบต. / นายกเทศมนตรี เหมือนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา หรือไม่ 

   

 

คณรัตน์ ยินดีมิตร / ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ