6 ก.พ.66- ที่ประชุมวุฒิสภา เห็นชอบรายงาน เรื่อง การส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ของอากาศยานไร้คนขับโดยมาตรการความปลอดภัยด้านการบิน มุ่งศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากอากาศยานไร้คนขับในทุกมิติ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ความปลอดภัยและการบริหารการจราจรทางอากาศ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

image

        ที่ประชุมวุฒิสภา ที่มี ศ.พิเศษพรเพชร  วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระการพิจารณา รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ของอากาศยานไร้คนขับโดยมาตรการความปลอดภัยด้านการบิน ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคมพิจารณาเสร็จแล้ว

        พลเอก ยอดยุทธ  บุญญาธิการ ประธานคณะ กมธ. การคมนาคม วุฒิสภา กล่าวชี้แจงสาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ ว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นอุตสาหกรรม บริการขนส่งและโลจิสติกส์ ได้กำหนดให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะ และความเชี่ยวชาญตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมดังกล่าว ตลอดจนการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้ มีหน่วยงานกำกับดูแลให้มีมาตรฐานสากล ทั้งนี้ อุตสาหกรรม บริการขนส่ง และโลจิสติกส์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น กมธ. จึงพิจารณาศึกษาเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ของอากาศยานไร้คนขับ ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก ภายใต้กรอบของมาตรการความปลอดภัยด้านการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ซึ่งเป็นผู้กำหนดมาตรฐานการใช้อากาศยานไร้คนขับ และจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานการใช้อากาศยานไร้คนขับขึ้นในอนาคต รวมทั้งพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์จากอากาศยานไร้คนขับในทุกมิติ พร้อมทั้งกำหนดกฎเกณฑ์ความปลอดภัยและการบริหารการจราจรทางอากาศ เพื่อพัฒนาและรองรับเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        พลโท จเรศักดิ์ อานุภาพ ประธานอนุ กมธ.ด้านการคมนาคมทางอากาศ วุฒิสภา กล่าวถึงข้อเสนอแนะจากรายงานฉบับนี้ ว่า คณะ กมธ. เห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 เพิ่ม “อากาศยานไร้คนขับ” ในคำนิยาม หรือยกเว้นหรือผ่อนปรน และมีหมวดเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับตามเห็นสมควร ในมาตรา 4 ของกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้สามารถนำมาบังคับใช้กับอากาศยานไร้คนขับในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความเป็นจริงที่หลากหลายตามเทคโนโลยีในการใช้ความสูงและพื้นที่ที่แตกต่างกันและอากาศยานไร้คนขับสามารถทำการบินขึ้นและลง นอกเหนือจากสนามบินได้ รวมทั้งภาครัฐควรกำหนดมาตรฐานการผลิตอากาศยานไร้คนขับให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และควรมีหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐาน ตามคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลควรมอบหมายงานในส่วนการจัดการจราจรทางอากาศของระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System Traffic Management: UTM) รวมถึงข้อมูลและบริการที่มีความสำคัญ ทั้งในด้านความปลอดภัย ความมั่นคงของประเทศ และต้องบูรณาการกับการจัดการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management: ATM) ของอากาศยานต่าง ๆ ต่อไป ปัจจุบัน หลายประเทศได้นำอากาศยานไร้คนขับ ไปใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาแทนเทคโนโลยีแบบดั้งเดิม เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ ตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวก่อให้เกิดการก้าวกระโดด ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อไป

        ภายหลัง สมาชิกวุฒิสภา ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขออนุญาต และเงื่อนไขในการบังคับปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 ที่ประชุมวุฒิสภา เห็นชอบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ของอากาศยานไร้คนขับโดยมาตรการความปลอดภัยด้านการบิน และข้อเสนอแนะของ กมธ. มีมติให้ส่งไปยัง ครม.เพื่อดำเนินการต่อไป

 

ศุภกฤต  กะบัดทอง ข่าว

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ