7 ก.ค. 68 - พรรคประชาชน ยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ หวังทำศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ยึดโยงประชาชน ให้สมาชิกรัฐสภาเลือกแทน สว.อย่างเดียว เพิ่มบทบาทประชาชนเข้าชื่อถอดถอนได้

image

          นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อม สส.พรรคประชาชน ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 ฉบับ เกี่ยวกับประเด็นศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร
          นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนและพรรคประชาชนเข้าใจดีว่าวิกฤตเฉพาะหน้าของประเทศ คือ วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังถูกซ้ำเติมจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา และวิกฤตความมั่นคงที่ต้องเฝ้าติดตามต่อไปเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา แต่พรรคประชาชนเชื่อว่าวิกฤตต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จะถูกแก้ไขได้ง่ายขึ้น หากมีรัฐบาลและระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ จัดสรรอำนาจอย่างสมดุล และมีกลไกตรวจสอบที่เข้มแข็ง แต่หลายเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ทั้งนิติสงครามที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรค ตัดสิทธินักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ผู้ที่กระทำความผิดยังไม่เคยถูกลงโทษ จนถึงการตรวจสอบคดีฮั้วเลือก สว. หรือการขาดความรับผิดรับชอบจากกรณีตึก สตง. ถล่ม ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ สังคมได้ตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ ว่าตกลงแล้วได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และรับผิดรับชอบอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคประชาชนต้องการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ที่นอกจากจะยื่นแก้ไขทั้งฉบับ ตามที่ได้มีการสื่อสารไปแล้วว่าจะต้องจัดทำประชามติ พร้อมกับการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อปลดล็อคเงื่อนไขที่ติดอยู่ ซึ่งมีอีกแนวทางที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ คือ การแก้ไขรายมาตรา ที่สามารถทำได้ทันที โดยการแก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจะไม่เป็นการผูกขาดไปที่ สว. เพียงอย่างเดียว
          ด้านประธานรัฐสภา กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบรายชื่อ รวมถึงจำนวนผู้ยื่นที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พร้อมตรวจสอบมาตราที่ได้มีการแก้ไขทั้งหมด หากครบถ้วนสมบูรณ์ จะบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ทั้ง สส. และ สว. ซึ่งจะเชิญวิปสามฝ่าย (ครม.-พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคร่วมฝ่ายค้าน) เพื่อหารือวันและเวลาในการบรรจุวาระที่ทุกฝ่ายจะได้มีความพร้อมในการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งจะต้องดำเนินไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา
          ขณะที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน อธิบายเนื้อหาร่างเพิ่มเติมว่า ร่างที่ 1 เป็นการเปลี่ยนระบบ ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ที่มาที่หลากหลาย ทำให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่มีความหลากหลายทางความคิด วิชาชีพ และประสบการณ์ โดยเพิ่มช่องทางในการสรรหา-เสนอชื่อ จากเดิมที่เสนอชื่อผ่านคณะกรรมการสรรหาช่องทางเดียว มาเป็นการเสนอชื่อหลายสายจากหลากหลายช่องทาง เช่น ศาล สส.รัฐบาล สส.ฝ่ายค้าน สว. 2. ไม่ผูกขาดโดย สว. ทำให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับประชาชนและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเปลี่ยนการคัดเลือกรับรองจากเดิมที่ สว. มีอำนาจชี้ขาด คือ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1 ใน 2 ของ สว. มาเป็นการพิจารณาร่วมกันของสองสภา โดยต้องได้รับฉันทามติจากหลายฝ่าย คือ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1 ใน 2 ของสมาชิกรัฐสภา เป็น สส. รัฐบาล จำนวนครึ่งหนึ่ง และ สส. ฝ่ายค้าน จำนวนครึ่งหนึ่ง และ 3. ประชาชนตรวจสอบได้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ไม่อยู่เหนือการตรวจสอบ โดยคืนสิทธิให้ผู้แทนราษฎร และประชาชน 20,000 คน ในการเข้าชื่อเพื่อริเริ่มกระบวนการพิจารณาถอดถอน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผ่านกลไกขององค์คณะพิจารณาถอดถอนที่มีตัวแทนจากหลายฝ่าย
          ส่วนร่างที่ 2 และร่างที่ 3 เป็นการปรับเฉพาะจุด ที่หวังว่าจะเป็นข้อเสนอขั้นต่ำที่ทุกพรรคการเมืองและ สว. จะยอมรับได้ โดยร่างที่ 2 เปลี่ยนการคัดเลือกรับรองจากเดิมที่ สว. มีอำนาจชี้ขาด (ต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1 ใน 2 ของ สว. มาเป็นการพิจารณาร่วมกันของสองสภา (ต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1 ใน 2 ของสมาชิกรัฐสภา) และร่างที่ 3 คืนสิทธิให้ผู้แทนราษฎรและประชาชน 20,000 คน ในการเข้าชื่อเพื่อริเริ่มกระบวนการพิจารณาถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ