นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคุ้มครองผู้บริโภค คนที่สอง สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวถึงปัญหาการกำกับดูแลผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ขาดประสิทธิภาพส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าบริการอินเตอร์เน็ตทสูงขึ้น ว่า ตามที่ กมธ. ได้เชิญตัวแทนจาก กสทช. เข้าชี้แจงถึงกรณีเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือของผู้ให้บริการรายหนึ่งล่ม เมื่อเดือน พ.ค.68 รวมถึงกรณีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งได้มีการประมูลไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.68 และมีผู้เข้าประมูลเพียง 2 รายเท่านั้น
นายกันต์พงษ์ กล่าวถึงการแบ่งปันคลื่นความถี่ระหว่างผู้ให้บริการสองราย ว่า ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสารเท่านั้น สำนักงาน กสทช. จำเป็นต้องมีบทบาทในการกำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และประชาชนได้ประโยชน์ แต่ที่ผ่านมา ตนตั้งข้อสังเกตว่า กสทช. อาจเป็นตัวแทน (Nominee: N) ของกลุ่มทุนผูกขาด หรือไม่ อีกทั้ง ปัญหาองค์ประกอบคณะกรรมการ กสทช. (Broad: B) ที่ปัจจุบันเหลือ 7 คน จาก 11 คน ขณะที่ตำแหน่งประธาน กสทช. ยังมีปัญหาเรื่องคดีความ การประชุมบอร์ดที่เหลือ 7 คนองค์ประชุมบ่อยครั้ง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าคณะกรรมการ กสทช.ชุดนี้ ขาดการยึดโยงกับประชาชน
รองประธาน กมธ. การคุ้มครองผู้บริโภค สภาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนได้รับความเจ็บปวด (Trauma: T)จากการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการโทรคมนาคมส่งผลให้ราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมประมาณร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 23 นอกจากนี้ ยังพบข้อสังเกตเรื่องปัญหาคุณภาพสัญญาณที่ เครือข่ายล่มบ่อยครั้ง แต่การชดเชยค่าเสียหายยังไม่สมเหตุสมผล สุดท้าย ตนตั้งข้อสังเกตถึงการทุจริตคอร์รัปชัน (Corruption: C) โดยเฉพาะการฮั้วประมูลที่ส่งผลให้ประเทศไทยขาดโอกาสและรายได้ ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่เมื่อนวันที่ 29 มิ.ย.68 นั้น คลื่น 850 MHz ไม่มีผู้ประสงค์ประมูล ขณะที่คลื่น 2100 MHz และคลื่น 2300 MHz มีบริษัทยักษ์ใหญ่ 2 ราย เข้าประมูลแบบแบ่งปันคลื่น ทำให้รัฐบาล มีรายได้จากการประมูลเพียงกว่า 40,000 ล้านบาทเท่านั้น จากยอดประมาณการณ์ที่ควรจะได้รับ คือ 110,000 ล้านบาท ดังนั้น กสทช. ควรทำหน้าที่เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตที่แพงเกินกว่าที่ควรจะเป็น
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง