นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน วุฒิสภา และในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน ให้สัมภาษณ์ในรายการ “จับกระแส แลสภา” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา ถึงความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน ว่า การศึกษานี้ เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน ของคณะ กมธ.การแรงงาน วุฒิสภา โดยไม่ได้เป็นการนำเสนอกฎหมาย แต่เป็นการจัดทำรายงานผลการศึกษาที่ต้องการจะทำให้เกิดผลการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้จัดทำร่างประมวลกฎหมายแรงงานแนบเป็นภาคผนวกที่จะเสนอไปยังรัฐบาลด้วย โดย คณะทำงานฯ เตรียมจัดสัมมนาเกี่ยวกับร่างประมวลกฎหมายแรงงาน วันพฤหัสบดีที่ 22 มิ.ย.66 ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
นายณรงค์ กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาประมวลกฎหมายแรงงานว่า คณะทำงานฯ ยึดหลักการว่าต้องลดหรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย และสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น มีระบบที่ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก และสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงเป็นที่มาของการรวบรวมกฎหมายว่าด้วยแรงงานที่กระจายอยู่ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่าง ๆ จำนวน 13 ฉบับ 1,146 มาตรา และคณะทำงานฯ ได้ปรับปรุงจนเหลือ 510 มาตรา ซึ่งร่างประมวลกฎหมายแรงงานนี้ แบ่งออกเป็น 6 ลักษณะ คือ 1.บทบัญญัติทั่วไป 2. คณะกรรมการด้านแรงงาน 3. การส่งเสริมการมีงานทำและส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 4. การบริหารจัดการการทำงานข้ามชาติ 5. การคุ้มครองแรงงาน การแรงงานสัมพันธ์ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และ 6. การคุ้มครองทางสังคม นอกจากนี้ คณะทำงานฯ มีแนวคิดต้องการให้มีคณะกรรมการการแรงงานแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายการแรงงานเป็นการเฉพาะ โดยมีตัวแทนทั้งองค์กรฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับคณะกรรมการของฝ่ายรัฐ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการดำเนินงานเพื่อกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนด้านการแรงงานของประเทศในภาพรวม
นายณรงค์ กล่าวย้ำว่า เมื่อคณะ กมธ.การแรงงาน วุฒิสภา เห็นชอบในรายงานฉบับนี้แล้ว ก็จะเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะมีการเสนอรายงานและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลตามกรอบอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ดังนั้น ความสำเร็จของการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแรงงาน ว่าจะสามารถประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่จะนำเรื่องนี้ไปต่อยอดขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร หากรัฐบาลในอนาคตเห็นด้วยในหลักการตามแนวทางนี้ ก็อาจจะนำร่างประมวลกฎหมายแรงงานของคณะ กมธ.เข้าสู่กระบวนการยกร่างและตรวจทวนร่างกฎหมายตามกระบวนการของฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจจะมีการปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการเสนอร่างกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และหากมีการจัดทำประมวลกฎหมายสำเร็จและจะต้องประกาศใช้ ฝ่ายบริหารก็จะต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายแรงงานขึ้นอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าจะต้องยกเลิกกฎหมายฉบับใดบ้างเพื่อใช้ประมวลกฎหมายแรงงานแทน ถือเป็นหนึ่งในหลักคิดของการยกเลิกกฎหมายที่ล่าสมัยหรือไม่จำเป็น “กีโยตินกฎหมาย” และปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยต่อสังคมปัจจุบัน
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ