22 เม.ย.67 - โฆษกพรรคก้าวไกล ชี้ 2 ทางเลือกรัฐบาลเดินหน้าทำประชามติเพื่อนำไปสู่การจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ เรียกร้องพิจารณารอบคอบก่อนตัดสินใจ หวังได้ รธน.ที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว พร้อมขอรัฐบาลจับมือฝ่ายค้าน เสนอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เร่งพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายประชามติปี 64 ให้เป็นธรรม 

image

   นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงความเห็นต่อข้อเสนอการจัดทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลยังเหมือนเดิม คือ ต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุดและประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้โดยไม่สะดุดในขั้นตอนใด ซึ่งที่ผ่านมา ตนเห็นว่ามีข้อถกเถียงหลักในเรื่องกระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ จำนวนครั้งในการทำประชามติ ระหว่าง 2 ครั้ง (ข. และ ค.) กับ 3 ครั้ง (ก. ข. และ ค.) โดยภายหลังจากสัปดาห์ที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้องตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย เกี่ยวกับจำนวนครั้งในการทำประชามติ ซึ่งตนเห็นว่า รัฐบาลมี 2 ทางเลือกหลัก ได้แก่ 

   ทางเลือกที่หนึ่ง คือ การพยายามทำทุกวิถีทางร่วมกับฝ่ายค้านในการทำให้สามารถเดินต่อไปในเส้นทางการทำประชามติ จำนวน 2 ครั้ง ทั้งนี้ ทางเลือกนี้จะเกิดขึ้นจริงได้ หากประธานสภาผู้แทนราษฎร ทบทวนการตัดสินใจของตนเอง และเปลี่ยนการตัดสินใจจากเดิมที่ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล มาเป็นการบรรจุร่างฯ ฉบับดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ซึ่งจะถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สามารถเดินหน้าเส้นทางการทำประชามติ จำนวน 2 ครั้งได้ และสอดคล้องกับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ของศาลรัฐธรรมนูญ สอดคล้องตามกฎหมาย และยังสอดคล้องกับความเห็นส่วนตนของตุลาการเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วย ดังนั้น ทางเลือกที่หนึ่ง ตนขอให้ฝ่ายรัฐบาล นำโดยพรรคเพื่อไทย และฝ่ายค้าน นำโดย พรรคก้าวไกล ได้ร่วมมือกันโน้มน้าวให้ประธานสภาฯ ได้บรรจุร่างฯ เข้าสู่ระเบีบบวาระการพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ 

   ส่วนทางเลือกที่สอง คือ เส้นทางการทำประชามติ จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งหากจำเป็นต้อง ดำเนินการในเส้นทางนี้ พรรคก้าวไกล มีข้อเสนอและข้อกังวลเกี่ยวกับคำถามที่จะถูกถามในการทำประชามติครั้งแรก (ก.) ซึ่งมีคำถามในลักษณะที่มีการสอดแทรกเงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยเข้าไปในคำถาม อาจจะทำให้ผู้ที่เห็นด้วยกับบางส่วนกับคำถาม ไม่รู้ว่าจะลงมติเช่นไร และอาจจะทำให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพเท่าที่ควรในการลงคะแนนเสียง โดยพรรคก้าวไกล เสนอให้ทบทวนคำถาม และใช้คำถามที่มีลักษณะเปิดกว้าง เพื่อให้ความเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเป็นเอกภาพ ทั้งนี้ หากรัฐบาล จะพิจารณาประเด็นนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.67) และตัดสินใจเลือกเส้นทางการทำประชามติ 3 ครั้ง ก็ขอให้รัฐบาลตัดสินอย่างรอบคอบด้วย 

   นายพริษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ตนขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะเห็นด้วยกับเส้นทางการทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง ก็ควรร่วมมือกับฝ่ายค้าน ในการเสนอให้มีการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เพื่อเร่งพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ตามที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ได้ยื่นเสนอร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2567 และขณะนี้ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นแล้ว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการทำประชามติระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ถูกถามในประชามติ และทันกรอบเวลาในการทำประชามติ ต่อไป 

   

คณรัตน์ ยินดีมิตร / ข่าว / เรียบเรียง 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ