29 เม.ย.67- เลขาธิการ กกต. ย้ำกฎหมายอนุญาตให้ ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวเองได้ แต่ห้ามหาเสียง หากฝ่าฝืนอาจมีความผิดได้ แนะผู้สมัครปฏิบัติตามระเบียบของ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. พ.ศ. 2567 เพื่อความถูกต้อง และเป็นธรรมกับทุกคน

image

        นายแสวง  บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (เลขาธิการ กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงหลักการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ว่า การเลือกตั้งวุฒิสภา มีความแตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากวุฒิสภา “เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ” มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพและมาจากกลุ่มสาขาอาชีพต่าง ๆ โดยมีการเลือกกันเองของผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องเป็นกลางทางการเมือง ตาม ม.114 ของรัฐธรรมนูญ และองค์ประกอบของคุณสมบัติและวิธีได้มา อาทิ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สว. ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ห้ามคนของพรรคการเมืองเข้ามาช่วยเหลือ ห้ามรับการช่วยเหลือจากนักการเมือง เป็นต้น ขณะที่ สภาผู้แทนราษฎร “เป็นสภาของนักการเมือง” และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เป็น “สภาของสมาชิกพรรคการเมือง” ต้องผ่านการเลือกตั้งของประชาชน โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป ไม่ต้องมีประสบการณ์ในสาขาอาชีพ และเป็นนักการเมืองเต็มตัว

        นายแสวง กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุข้างต้นที่รัฐธรรมนูญออกแบบให้ สว. มีลักษณะดังกล่าว กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้สมัคร สว. ทำได้แค่แนะนำตัว นั้นหมายความว่าห้ามหาเสียงโดยปริยาย เพราะเชื่อว่าผู้ทรงคุณวุฒิด้วยกันเองที่สมัครทุกคนเป็นผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และทราบกันดีในสาขาอาชีพของตนเองอยู่แล้ว และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีวิจารณญาณในการเลือกที่ถูกต้องได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีการจัดตั้ง ฮั้วกันในการเลือก ทั้งนี้ การแนะนำตัว คือ การบอกว่าตัวเองเป็นใคร มีประสบการณ์ในกลุ่มสาขาอาชีพนั้นอย่างไร แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้วยกันเองมีข้อมูลในการเลือกในการเลือกกันเองแล้ว ไม่ว่าจะเลือกในกลุ่มหรือเลือกไขว้ก็ตาม ส่วนการหาเสียง คือ การหา หรือขอคะแนนนิยม โดยการโฆษณา การเสนอนโยบาย หรือการแสดงวิสัยทัศน์ ของพรรคการเมืองและผู้สมัคร ดังนั้น การเลือก สว. จึงแตกต่างจาก สส. ที่มาจาก “การเลือกตั้ง/การหาเสียง”

        เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงบทลงโทษ ว่า โทษของการแนะนำตัว เช่น การขอคะแนนกัน การแลกคะแนนกัน (ยังไม่ซื้อเสียง) ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นการแนะนำตัวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 5606/2562 และ ที่ 5217/2562 พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ/ตลอดชีวิต) นั้นหมายความว่า การจัดตั้ง การฮั้ว (ยังไม่ได้ใช้เงินซื้อเสียง) ก็อยู่ในลักษณะความผิดนี้ด้วย ส่วนโทษของการทุจริตในการเลือก เช่น การซื้อเสียง รวมทั้งโทษอื่น เช่น จ้างให้คนลงสมัคร รับจ้างสมัคร สมัครโดยเอกสารเท็จ รับรองการสมัคร กลุ่มความผิดนี้มีทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) จำคุก และเสียเงินค่าปรับด้วย ดังนั้น ให้พึงระวังให้ดี แม้ไม่ได้กระทำผิด เรื่องการทุจริตในการเลือก แต่แนะนำตัวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความผิดโดนใบดำได้

        นายแสวง กล่าวถึงการให้ความรู้ การเชิญชวนลงสมัคร สามารถทำได้หรือไม่ ว่า การให้ความรู้ การเชิญชวนลงสมัครโดยทั่วไปแล้วหยุดแค่ให้ความรู้ หรือเชิญชวน ลักษณะนี้โดยตัวมันเองทำได้อยู่แล้ว แต่อาจเป็นเหตุให้เป็นความผิดอื่นได้ เมื่อได้ดำเนินการต่อเนื่องจากการให้ความรู้ หรือการเชิญชวน อาทิ 1. การตั้งกลุ่ม เพื่อติดต่อกันไม่ว่าในช่องทางใด ๆ เช่น การตั้งกลุ่มไลน์ และมีการแลกคะแนนกัน ขอคะแนนกัน การฮั้วกัน เป็นต้น 2. การสร้างกลุ่มแต่มีการแนะนำตัว ไม่เป็นไปวิธีแนะนำตัวตามที่ระเบียบกำหนด เช่น การเสนอนโยบาย เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นกับข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป

        เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวชี้แจงเหตุผลของการออกระเบียบของ กกต. ว่า ด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. พ.ศ. 2567 ว่าด้วยการแนะนำตัว บนหลักการ 3 ประการ ว่า 1. เพื่อให้ได้ สว. ตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 2. เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิเดินมาสมัครด้วยตัวเอง หากมีการจัดตั้ง การบริหารจัดการอยู่เบื้องหลัง การจัดตั้งกลุ่มทำไห้ได้ สว. ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นกลาง และเอาเปรียบคนตั้งใจดี 3. หวังดี คุ้มครองผู้สมัคร ส่วนคนที่คิดจะไปเข้ากลุ่มจะได้คิดว่า กลุ่มนั้นจะทำผิดวิธีแนะนำตัวหรือไม่ ดังนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สว. ต้องแนะนำตัวให้ถูกต้อง และเป็นธรรมกับทุกคน อย่าคิดเอาเปรียบคนอื่น ทั้งนี้ กกต. รับฟังทุกความคิดเห็น ไม่ว่าความเห็นนั้นจะไม่อยู่บนหลักกฎหมาย หรือมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ แต่สุดท้าย กกต. ก็ต้องทำตามกฎหมาย ไม่อาจทำตามความต้องการของคนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งได้

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ