23 เม.ย. 67 - ประธานกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา มองการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart city องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเข้ามามีบทบาท ร่วมวางเป้าหมายและประสานงานกับภาครัฐ

image

            พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา กล่าวถึงการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ในรายการทันข่าววุฒิสภา โดยระบุว่าเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ มาจากคำว่าสมาร์ทซิตี้ (Smart City) ซึ่งเมืองใหญ่ทั่วโลกต้องการมุ่งเน้นในการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City โดยมีมิติการพัฒนาที่สำคัญ 7 ด้าน ประกอบด้วย ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ การดำรงชีวิตอัจฉริยะ ด้านพลเมืองอัจฉริยะ ด้านพลังงานอัจฉริยะ ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ และด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ ทั้งนี้ย้ำว่าเมืองที่ดีควรมีการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้ง 7 ด้านเนื่องจากเมืองอัจฉริยะ คือเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน

            พลเอก เลิศรัตน์ ยังกล่าวถึงกรอบการดำเนินงานและนโยบายในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย ว่าเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วรัฐบาลมีการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้น คือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Depa ที่มุ่งนำดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ตนมองว่าประเทศไทยควรมีการศึกษาในเรื่องชุมชนท้องถิ่นกับการขับเคลื่อนพัฒนานำไปสู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบโดยตรง ดังนั้นการพัฒนาในเรื่องดังกล่าว จึงต้องให้ อปท.มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในการศึกษาคณะกมธ. ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะระดับชุมชนและระดับจังหวัดขึ้น ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและให้หน่วยงานที่อยู่ใน อปท.เข้ามาเป็นกรรมการ โดยมีการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเมืองของแต่ละจังหวัดร่วมกับรัฐบาล พร้อมมองว่าอีกหน่วยงานที่สำคัญคือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและตั้งเป้าหมายหลักเกณฑ์ให้ไปสู่การเป็น Smart City เนื่องจากหากมองภาพรวมในปัจจุบันยังขาดวิสัยทัศน์และหลักคิดของผู้นำท้องถิ่นในการพัฒนาเรื่องนี้ อีกทั้งรัฐบาลยังไม่บูรณาการอย่างแท้จริง ตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นการดำเนินการพัฒนาด้านเมืองน่าอยู่อัจฉริยะของประเทศไทยในปัจจุบัน รัฐบาลต้องนำประเด็นนี้มาพิจารณา แล้วตั้งคณะกรรมการหรือมีสำนักงานพัฒนาด้านการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะให้เป็นศูนย์กลางและระดับจังหวัด และต้องกำหนดว่าแต่ละจังหวัดต้องมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านใดบ้าง โดยวางกรอบการดำเนินการให้ชัดเจน 

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง 

ขอบคุณข้อมูลและภาพ จากเพจเฟซบุ๊กวุฒิสภา 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ