7 พ.ค.68 - กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างฯ สผ.พบข้อบกพร่องเหตุอาคาร สตง.ถล่ม ชี้ขาดมาตรฐาน-ไร้ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำจำเป็นเร่งปฏิรูปกฎหมายก่อสร้างภาครัฐทั้งระบบ

image

          นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง ความปลอดภัย และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ รองประธานคณะกรรมาธิการ และนายนิกร จำนง กรรมาธิการและประธานที่ปรึกษา ร่วมแถลงถึงผลการพิจารณาถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขและยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างและความปลอดภัยของอาคาร กรณีศึกษาอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง ประกอบด้วย สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และกรุงเทพมหานคร
         โดย นายปลอดประสพ กล่าวว่า กรณีการเลือกพื้นที่สร้างตึก สตง.แห่งใหม่ ตนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายจากพื้นที่ย่านปทุมธานีมายังย่านจตุจักร โดยอ้างเหตุผลถึงปัญหาน้ำท่วมนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังได้ ซึ่งถ้าหาก สตง. ได้มีการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญก่อน เชื่อว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากพอย้ายสถานที่ก่อสร้างใหม่ ทำให้มีการเสียงบประมาณในการออกแบบถึง 2 ครั้ง อีกทั้งได้รับทราบข้อมูลว่าทาง สตง.ไม่มีความรู้ทางเทคนิคในด้านของวิศวกรรม ทำงานแบบคิดเองตัดสินใจเอง โดยไม่มีหน่วยงานหรือวิศวกรรมของทางรัฐบาล ข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงไม่มีบริษัทในการควบคุมการก่อสร้าง นอกจากนี้ จากการติดตามการก่อสร้างอาคาร กมธ.ได้ตรวจสอบพบช่องว่างสำคัญหลายประการตลอดกระบวนการทำงาน ซึ่งเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุในโครงการก่อสร้าง ซึ่ง กมธ.มองว่าจำเป็นต้องอุดช่องว่างเหล่านี้ โดยเฉพาะประเด็นด้านความปลอดภัยและมาตรฐานการก่อสร้างเป็นที่ชัดเจนว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคารและกฎกระทรวงหลายฉบับที่ใช้อยู่ไม่ทันสมัยเพียงพอ จำเป็นต้องรื้อและปฏิรูปทั้งระบบโดยเร่งด่วน เนื่องจากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไปเช่นนี้ไม่ได้
         ส่วนประเด็นการคัดเลือกบริษัทควบคุมการก่อสร้าง กมธ.พบความไม่สอดคล้องในการคัดเลือกบริษัทออกแบบและบริษัทควบคุมการก่อสร้าง โดยใช้มาตรฐานและน้ำหนักที่แตกต่างกัน คือ บริษัทออกแบบให้น้ำหนักด้านประสบการณ์ 30% และบริษัทควบคุมการก่อสร้างให้น้ำหนักด้านประสบการณ์เพียง 10% ทั้งที่บริษัทควบคุมการก่อสร้างมีบทบาทสำคัญในการดูแลความปลอดภัยโครงสร้างสำคัญ เช่น การผูกเหล็ก การเทปูน และการผสมปูน เป็นต้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของโครงสร้างอาคาร ทาง กมธ.จึงได้ตั้งข้อสังเกตไปยัง สตง.ด้วยว่า หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับหน่วยงานรัฐส่วนอื่นทาง สตง.จะให้คำแนะนำอย่างไร และขอให้ สตง.ทบทวนว่าในระหว่างการก่อสร้าอาคารไม่พบสิ่งผิดปกติ จริงหรือไม่ ซึ่งเห็นได้จากมีการปรับแก้ไขแบบอาคารอยู่หลายครั้ง อาทิ ตำแหน่งลิฟท์ ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของอาคาร แต่กลับไม่มีการหารือกับหน่วยงานทางวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญ ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนแปลง พร้อมย้ำกรณีอาคาร สตง.ถล่ม มีข้อผิดพลาดชัดเจน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต
         ด้าน นายนิกร กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว ซึ่งจากการตรวจสอบในการก่อสร้างครั้งนี้ไม่มีความชัดเจนว่าใช้มาตรฐานใด กรมโยธาธิการและผังเมือง กลับระบุเพียงว่า "ให้ใช้แบบที่ปลอดภัยที่สุด" โดยไม่ได้ระบุชัดเจน จนกระทั่งการตัดสินใจเรื่องความปลอดภัยกลายเป็นดุลยพินิจของบริษัทผู้รับเหมา ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่มีการชี้ชัดว่าอาคารนี้จะปลอดภัยจากแผ่นดินไหวในระดับใด
         ทั้งนี้ กมธ.ยืนยันจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขระเบียบในภาพรวมของการก่อสร้างอาคารรัฐ /ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้าง /ปรับปรุงวิธีการคัดเลือกผู้รับจ้างและมาตรฐานการคัดเลือก และพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พระราชบัญญัติสภาวิศวกร เนื่องจากปัญหาที่พบไม่ได้จำกัดเฉพาะโครงการของ สตง. แต่สะท้อนถึงปัญหาเชิงระบบของการก่อสร้างอาคารของรัฐทั้งหมด ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยและขาดการควบคุมที่เหมาะสม เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดมาดูแลตรวจสอบระหว่างการก่อสร้าง


อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ