นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การจำหน่าย "ไกลโฟเซต" หรือ "ยาฆ่าหญ้า" ผ่านช่องทางออนไลน์อย่างไร้การควบคุม โดยระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกรมวิชาการเกษตร ย่อหย่อนและบกพร่องในการควบคุมสารเคมีอันตรายทางการเกษตร ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพเกษตรกร ประชาชนทั่วไป และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบให้แบนการใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตรกรรม ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ต่อมา กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศกฎกระทรวง พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต การนำเข้า การส่งออก การมีไว้ในครอบครอง และการจำหน่ายสารเคมีเหล่านี้ โดยกำหนดให้มีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการควบคุมการจำหน่าย อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านมาเพียง 6 ปี การควบคุมสารเคมีไกลโฟเซตกลับย่ำแย่ลง เห็นได้จากการปล่อยให้มีการโฆษณาและจำหน่ายทางออนไลน์อย่างเสรี ผู้จำหน่ายไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเกษตรกรและประชาชน รวมถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสัตว์น้ำพื้นบ้าน เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด ที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำธรรมชาติ ซึ่งอาจสูญพันธุ์ในอนาคต และที่สำคัญไกลโฟเซตได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มสารเคมีที่ "น่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์" (กลุ่ม 2A) โดยองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ตั้งแต่ปี 2015
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Thai-PAN ยังแสดงให้เห็นว่า ปริมาณการนำเข้าสารไกลโฟเซตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ทั้งที่มีประกาศควบคุม อาทิ ปี 2562 (ปีที่มีประกาศกฎกระทรวง) มีการนำเข้า 25 ล้านกิโลกรัมเศษ ต่อมาปี 2563-2564 ปริมาณลดลงเหลือประมาณ 12 ล้านกิโลกรัมเศษ แต่ในปี 2566 ปริมาณพุ่งสูงขึ้นถึง 28 ล้านกิโลกรัมเศษ จากตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นข้อสังเกต 2 ประการ คือ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขาดความจริงจังในการควบคุมสารเคมีอันตราย อาจมีแรงกดดันจากกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ และสังคมไทย "หลงลืมง่าย" ทั้งที่ช่วงปี 2561-2562 มีเกษตรกรจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดหนองบัวลำภู ได้รับอันตรายจากยาฆ่าหญ้า มีผู้ได้รับพิษจนต้องตัดขา และพบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำที่นำไปผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การส่งเสริมโครงการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ แต่หากไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์อาจกลับไปเลวร้ายอีกครั้ง
ดังนั้น ตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะโรคมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยมาหลายสิบปี ทั้งยังเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของรัฐและครอบครัวผู้ป่วย หากไม่มีการควบคุมที่จริงจังและต่อเนื่อง ย่อมกระทบต่อระบบนิเวศ และนำไปสู่การลดลงของสัตว์น้ำพื้นบ้าน จนถึงขั้นสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้
อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง
พรรคไทยสร้างไทย ข้อมูล/ภาพ
