27 พ.ย. 66 – คณะทำงานศึกษาติดตามการบังคับใช้ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ แนะรัฐประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพก่ออาชญากรรมออนไลน์ พร้อมแก้ไขกฎหมายครอบคลุมกระบวนการติดตามเงินคืนจากมิจฉาชีพ

image

              นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาติดตามการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 กล่าวในรายการทันข่าววุฒิสภา ว่าจากการศึกษาของคณะทำงาน พบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การส่งลิงค์ ส่งข้อความผ่าน SMS และการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อหลอกให้โอนเงิน หรือลงทุน ตลอดจนการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยกลยุทธ์ของกลุ่มมิจฉาชีพ คือมักใช้จุดอ่อนของผู้ตกเป็นเหยื่อ หลอกล่อโดยให้เข้าใจผิดว่าเป็นผู้ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ จากกรณีพิษเศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด-19 และการอ้างถึงการทำผิดระเบียบต่าง ๆ ทั้งนี้พบว่าตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. 65 ถึง พ.ค. 66 มีผู้เสียหายกว่า 67,000 คน โดยจำนวนมากที่สุดคือถูกหลอกให้ซื้อสินค้า รองลงมาคือ หลอกให้โอนเงิน และลงทุน ตามลำดับ สำหรับมาตรการป้องกันที่ผ่านมาของภาครัฐ ได้แก่การจัดตั้งศูนย์ Anti Online Scam Operation Center (AOC) โทรสายด่วน 1441 ทำหน้าที่ดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี ได้ทันที รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยออนไลน์ ขณะเดียวกันอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว ในการกำหนดให้มีการลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือเพื่อป้องกันมิจฉาชีพ 

          อย่างไรก็ตาม นายสุวัฒน์ กล่าวว่าคณะทำงานได้มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลให้มีการประชาสัมพันธ์กลโกงของมิจฉาชีพไปยังประชาชนอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เนื่องจากมิจฉาชีพมักจะมีวิธีการล่อลวงรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา แก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมไปจนกว่าเหยื่อจะได้รับเงินคืน และควบคุมหน่วยงานราชการ และเอกชน ให้มีระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์หลายขั้นตอน ไม่ให้ถูกขโมยข้อมูลได้ง่าย

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เพจเฟซบุ๊กวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)   

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ