7 พ.ค. 68 - ประธานคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างฯ สภาผู้แทนราษฎร ขอ สตง. หนุนการดำเนินงาน ให้ความร่วมมือแจงเหตุอาคารถล่ม ร่วมสร้างมิติใหม่ด้านความปลอดภัยของอาคารทั้งภาครัฐและเอกชนในอนาคต

image

             การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาการยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง ความปลอดภัย และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกมธ.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขและยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างและความปลอดภัยของอาคาร โดยมี นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ รองประธานคณะกมธ. นายนิกร จำนง กมธ.และที่ปรึกษาคณะกมธ. เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุม อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นำโดย นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการ สตง. ในฐานะประธานกรรมการตรวจรับพัสดุในการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ สตง. ที่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 รวมถึงคณะกรรมการคัดเลือกงานจ้าง กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร (กทม.) 

             นายปลอดประสพ กล่าวก่อนเริ่มต้นการประชุม ว่าคณะกมธ.วิสามัญฯ ชุดนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะสอบสวนหรือเอาผิดใคร และไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ แต่มีเป้าหมายเพื่อวางรากฐานใหม่ให้กับระบบการก่อสร้างของประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในโครงการก่อสร้างนั้น ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีสิ่งผิดปกติ เพราะหากมีการปฏิบัติตามระเบียบราชการอย่างเคร่งครัด 100% แล้วปัญหายังเกิดขึ้น อาจสะท้อนว่าระเบียบที่ใช้อยู่นั้นล้าสมัยหรือไม่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ พร้อมย้ำว่าการทำงานของคณะกมธ.วิสามัญฯ จะมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ทั้งในระดับกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบราชการ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การก่อสร้างอาคารของทั้งภาครัฐและเอกชนในอนาคตต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้นและไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอาคารที่เป็นทรัพย์สินของประเทศที่ประชาชนต้องพึ่งพิง ตลอดจนตนขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สตง. ให้เปิดใจยอมรับปัญหาและร่วมมือกันในการพัฒนาระบบ เพราะเชื่อว่าหน่วยงานที่เป็นต้นเหตุของปัญหาย่อมรู้ดีที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้น พร้อมยืนยันว่าการชี้แจงในที่ประชุมไม่ได้มีเจตนาทำให้หน่วยงานเสื่อมเสีย แต่ต้องการร่วมกันสร้างแนวทางใหม่ให้ประเทศไทยมีระบบก่อสร้างที่ปลอดภัย โปร่งใส และยั่งยืนสำหรับลูกหลานในอนาคต

           อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในการยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างทั้งระบบ โดยมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนในระยะยาว

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ