17 เม.ย.67 –   กมธ.การเกษตรฯ สผ.ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่การเกษตร แนะ กรมอุทยานฯ เร่งศึกษาวิธีควบคุมจำนวนช้างป่าให้สอดคล้องกับพื้นที่ และใช้เทคโนโลยีเฝ้าระวังช้างป่าก่อนเข้ามาทำความเสียหาย พร้อมเห็นด้วยที่จะแยก "ภัยจากช้างป่า" ออกจากสาธารณภัยอื่น หวังช่วยเยียวยาเกษตรกรให้เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

image

             การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศักดินัย นุ่มหนู ประธานกมธ. เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีช้างป่าบุกรุกพื้นที่การเกษตร โดยมี สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ร่วมให้ข้อมูลว่า ปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่การเกษตรได้สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สิน การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตของประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปี สาเหตุจากพื้นที่ป่าไม่เพียงพอรองรับจำนวนช้างป่าที่เพิ่มขึ้น สภาพพื้นที่ป่าขาดแคลนแหล่งอาหาร และการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่า โดยภาครัฐได้ชดเชยความเสียหายให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ แต่พบปัญหาเนื่องจากเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรและพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจะต้องเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น ประกอบกับค่าชดเชยความเสียหายตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกษตรกรได้รับ

              ภายหลังการพิจารณา กมธ.ได้มีข้อเสนอแนะว่า ในระยะเร่งด่วนกรมอุทยานฯ ควรมีการจัดสรรพื้นที่และบริหารจัดการด้านทรัพยากรให้ช้างป่าอาศัยอยู่ในพื้นที่เฉพาะ หรือจัดแนวกันช้างเพื่อป้องกันการเข้ามาทำความเสียหายในพื้นที่การเกษตร พร้อมเร่งสำรวจจำนวนช้างป่าและศึกษาวิธีการควบคุมจำนวนช้างป่าให้สอดคล้องกับพื้นที่ป่า อาทิ การใช้วัคซีนคุมกำเนิด และใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีติดตามการเคลื่อนไหวของช้างป่า อาทิ การใช้โดรนระบบติดตาม (GPS) เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนก่อนที่ช้างป่าจะเข้ามาทำความเสียหาย ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ และช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยช้างป่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ควรพิจารณาแนวทางปรับเพิ่มอัตราช่วยเหลือ ชดเชยพืชผลทางการเกษตรตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ภายใต้หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 นอกจากนี้ สำนักงบประมาณ ควรจัดสรรงบประมาณปี 68 ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่ครอบคลุมความเสียหายอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนเพื่อให้มี "อาสาสมัครผลักดันช้างป่า" ที่เพียงพอเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการด้วย

             สำหรับมาตรการระยะยาว กมธ.เห็นด้วยที่จะแยก "ภัยจากช้างป่า" ออกจากสาธารณภัยอื่นๆ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 โดยให้กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ เป็นผู้ทบทวนระเบียบดังกล่าว เพื่อให้การชดเชยเยียวยาเหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

กมธ.การเกษตรฯ สผ.ข้อมูล/ภาพ

 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ